พรุ่งนี้ (14 ก.ย.) พรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) พรรครัฐบาลญี่ปุ่น มีกำหนดเลือกผู้นำพรรคคนใหม่ ซึ่งจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วย หลังนายกฯชินโสะ อาเบะ ผู้นำที่กุมอำนาจยาวนานที่สุดประกาศลาออกเมื่อ 28 ส.ค. เพราะโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังกำเริบ

ตัวเก็งอันดับ 1 คือ นายโยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี “มือขวา” ของอาเบะ ซึ่งมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ในพรรคมากที่สุดถึง 80% อันดับ 2 คือ นายชิเงรุ อิชิบะ อดีต รมว.กลาโหม อันดับ 3 คือ นายฟูมิโอะ คิชิดะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ผู้ชนะจะขึ้นมาแทนอาเบะจนกว่าจะหมดวาระในเดือน ก.ย.ปีหน้า ยกเว้นจะประกาศเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนด

แต่ไม่ว่าใครจะได้ขึ้นมาเป็นผู้นำใหม่ ก็มีภารกิจหนักหนาหลากหลายรออยู่ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เป็นวิกฤติของทั้งโลก!

ตัวเก็ง-โยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ออกท่าทางบนเวทีดีเบตกับคู่แข่งในกรุงโตเกียว เมื่อ 9 ก.ย. ก่อนการเลือกตั้งผู้นำพรรคแอลดีพีคนใหม่ใน 14 ก.ย. ผู้ชนะจะขึ้นมาเป็นผู้นำใหม่ของญี่ปุ่นด้วย (เอเอฟพี)
ตัวเก็ง-โยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ออกท่าทางบนเวทีดีเบตกับคู่แข่งในกรุงโตเกียว เมื่อ 9 ก.ย. ก่อนการเลือกตั้งผู้นำพรรคแอลดีพีคนใหม่ใน 14 ก.ย. ผู้ชนะจะขึ้นมาเป็นผู้นำใหม่ของญี่ปุ่นด้วย (เอเอฟพี)

...

เป็นที่รู้กันว่า นโยบายหรือยุทธศาสตร์ “อาเบะโนมิกส์” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ชะงักงันมาหลายสิบปีของอาเบะ เผชิญอุปสรรคมากมายจนไปไม่ถึงไหน รวมทั้งการส่งออกที่ลดวูบ และการขึ้นภาษีการขายที่ไม่ได้ผล

นักวิเคราะห์ชี้ว่า “ธนู 3 ดอก” รวมทั้งนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสูง และการอัดฉีดค่าใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของอาเบะนั้น ไม่มีอานุภาพเพียงพอที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้ ขณะที่ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาประชากรสูงวัย อัตราการเกิดต่ำ และขาดแคลนแรงงาน

รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีหนี้ภาครัฐสูง ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐในโครงการใหม่ๆ ทำได้จำกัด ขณะที่ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (บีโอเจ) ก็เริ่มหมดปัญญาที่จะคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ 2% ตามเป้าหมายได้

ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งต้องมีการปิดๆเปิดๆเศรษฐกิจ สถานการณ์ยิ่งแย่ จนเศรษฐกิจญี่ปุ่นตกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ จีดีพีแทบไม่เพิ่ม ทำให้ผลดีของนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” แทบไม่เหลืออะไร

นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นยังมีปัญหาเชิง “การทูต” กับชาติเพื่อนบ้าน รวมทั้ง “จีน” แม้ความสัมพันธ์ดีขึ้นหลังประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งจีนมีแผนไปเยือนญี่ปุ่น แต่เลื่อนออกไปเพราะโควิด-19 แต่สมาชิกพรรคแอลดีพีบางกลุ่มต้องการให้ยกเลิกการเยือน เพราะความขัดแย้งเรื่องฮ่องกงและทะเลจีนตะวันออกหรือทะเลญี่ปุ่น

ในยุคอาเบะ ญี่ปุ่นยังเป็นพันธมิตรแนบแน่นของ “สหรัฐอเมริกา” ซึ่งกำลังงัดข้อกับจีนอย่างดุเดือด ทั้งเรื่องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การค้า ความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจและการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับจีนก็มีมูลค่ามหาศาลและพัวพันกันอย่างแยกไม่ออก

เป็นไปได้ว่าสหรัฐฯจะบีบให้ญี่ปุ่นเลือกข้างและบีบให้รับภาระทางการเงินมากขึ้นในเรื่องการคงทหารสหรัฐฯไว้ในฐานทัพในญี่ปุ่น ผู้นำญี่ปุ่นคนใหม่จึงต้องสร้างสมดุลความสัมพันธ์กับจีนและสหรัฐฯให้ดี!

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับ “เกาหลีใต้” ก็ตึงเครียด เพราะความขัดแย้งจากอดีต กรณีกองทัพญี่ปุ่นบังคับให้ชาวเกาหลีใช้แรงงานทาสในบริษัทญี่ปุ่น และบังคับให้สตรีชาวเกาหลีเป็นทาสกามในซ่องของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ความขัดแย้งนี้ลุกลามไปเป็นความขัดแย้งด้านการค้าและความมั่นคง

ประชันวิสัยทัศน์-(จากซ้ายไปขวา) นายฟูมิโอะ คิชิดะ อดีตรมว.ต่างประเทศ นายโยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการ ครม. และนายชิเงรุ อิชิบะ อดีต รมว.กลาโหม ขึ้นเวทีดีเบตประชันวิสัยทัศน์ที่จัดขึ้นโดยพรรคแอลดีพี สำนักงานยุวชนและสำนักงานสตรี ในกรุงโตเกียว เมื่อ 9 ก.ย. ก่อนชิงเก้าอี้ผู้นำพรรคและนายกฯใหม่ใน 14 ก.ย. (เอเอฟพี)
ประชันวิสัยทัศน์-(จากซ้ายไปขวา) นายฟูมิโอะ คิชิดะ อดีตรมว.ต่างประเทศ นายโยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการ ครม. และนายชิเงรุ อิชิบะ อดีต รมว.กลาโหม ขึ้นเวทีดีเบตประชันวิสัยทัศน์ที่จัดขึ้นโดยพรรคแอลดีพี สำนักงานยุวชนและสำนักงานสตรี ในกรุงโตเกียว เมื่อ 9 ก.ย. ก่อนชิงเก้าอี้ผู้นำพรรคและนายกฯใหม่ใน 14 ก.ย. (เอเอฟพี)

...

ญี่ปุ่นยังมีปัญหาเรื่อง “ความมั่นคง” และ “รัฐธรรมนูญ” หลังอาเบะตีความรัฐธรรมนูญฉบับใฝ่สันติที่สหรัฐฯร่างขึ้นหลังญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ใหม่ และรัฐสภาญี่ปุ่นผ่านกฎหมายใหม่ให้ญี่ปุ่นส่งทหารไปช่วยชาติพันธมิตรสู้รบนอกดินแดนญี่ปุ่นได้เมื่อเกิดสงคราม แต่เขายังไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ที่จะให้ญี่ปุ่นมีบทบาททางทหารมากขึ้นได้ ผู้นำคนใหม่จึงต้องตัดสินใจว่าจะเอายังไงต่อ

เมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังเริ่มทบทวนยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติใหม่หลังตัดสินใจยกเลิกแผนจัดซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธแบบพื้นสู่อากาศ “เอจีส อะชอร์” ของสหรัฐฯ เพราะมีข้อถกเถียงในพรรคแอลดีพีและถูกต่อต้านจากจีนและรัสเซีย เพราะระบบขีปนาวุธดังกล่าวสามารถยิงรุกล้ำเข้าไปในประเทศอื่นได้

ถ้าไม่พลิกโผ ซูกะจะขึ้นมาเป็นนายกฯ ใหม่ และนำพรรคแอลดีพีลงสู้ศึกเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯ ในเดือน ต.ค.ปีหน้า หรือเร็วกว่านั้น ถ้าตัดสินใจจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด แต่เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านอ่อนแอแตกแยก จึงคาดว่าพรรคแอลดีพีจะชนะเลือกตั้งและได้ครองเสียงข้างมากในสภาอีก แต่เสียงจะถึง 2 ใน 3 หรือไม่ยังน่าสงสัย ขึ้นอยู่กับฝีมือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การรับมือโควิด-19 และ “ภาพลักษณ์” ของนายกฯใหม่

ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาย่ำแย่ พรรคแอลดีพีอาจต้องเลือกผู้นำใหม่อีก ทำให้เกิดการหมุนเวียนเปลี่ยนนายกฯบ่อยครั้งเหมือนในอดีต ก่อนที่อาเบะจะขึ้นมาเป็นผู้นำสมัยที่ 2 ได้นานเกือบ 8 ปี

ภารกิจของผู้นำใหม่ญี่ปุ่นจึงไม่ง่าย ขนาดผู้นำมากบารมีอย่างอาเบะก็แทบ “เอาไม่อยู่”!

บวร โทศรีแก้ว

...