...โดนวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึงทันที หลังรัฐบาลท้องถิ่นรัฐฟลอริดา ทางภาคใต้สหรัฐฯ อนุมัติโครงการ “ปล่อยยุงปรับแต่งพันธุกรรม” จำนวน 750 ล้านตัวสู่ธรรมชาติ หวังช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อป่วยไข้หลายชนิดที่มียุงเป็นพาหะนำโรค ตั้งแต่ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย ไข้เหลือง ไข้ซิกา ไข้ชิคุนกุนยา และโรคอื่นๆ

คุณสมบัติ “ยุงปรับแต่งพันธุกรรม” เป็นยุงตัวผู้ทั้งหมด เพื่อให้ยุงตัวผู้ไปผสมพันธุ์กับยุงเพศเมียตามป่าธรรมชาติ ซึ่งยุงเพศเมียเท่านั้นที่ต้องการดูดดื่มเลือดมนุษย์เพื่อนำไปสร้างผลิตไข่ ส่วนยุงตัวผู้จะกินดื่มแค่น้ำหวานจากเกสรดอกไม้ แต่ยุงเพศเมียที่ถูกผสมพันธุ์โดยยุงเพศผู้ปรับแต่งพันธุกรรม จะตายก่อนได้วางไข่หรือได้ดูดดื่มเลือดมนุษย์

แผนปล่อยยุงปรับแต่งพันธุกรรมในรัฐฟลอริดาจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องไปจนถึงตลอดช่วงปี 2564 ท่ามกลางเสียงประท้วงคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการเข้าชื่อร้องเรียนยับยั้งโครงการนี้จากเหล่าชาวบ้านบางส่วนมากเกือบ 240,000 รายชื่อ

เหตุผลการคัดค้านโครงการนี้ ซึ่งถูกขนานนาม “โครงการยุงจูราสสิก ปาร์ก” เพราะถือเป็นการบิดเบือนวิถีธรรมชาติและยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆยืนยันชัดเจนว่าโครงการนี้ไม่กระทบถึงระบบนิเวศโดยรวม หรืออาจเกิดความผิดปกติใดๆขึ้นอย่างคาดไม่ถึงในอนาคต รวมถึงการก่อเกิดการกลายพันธุ์ของยุงที่รอดชีวิตบางส่วนประมาณ 3-4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้ยุงเหล่านั้นสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านได้แม้กระทั่งยาฆ่าแมลง แต่คงไม่ถึงขนาดสู้ฝ่ามือมนุษย์

ฝ่ายสนับสนุนโครงการนี้พยายามยกข้ออ้างความสำเร็จทดลองแล้วได้ผลดีในหลายพื้นที่ รวมถึงหมู่เกาะเคย์แมน ปานามา มาเลเซีย และบราซิลตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งยังเตรียมแผนทดลองอีกในรัฐเท็กซัสของสหรัฐฯเร็วๆนี้ถ้าได้รับอนุมัติ

...

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโรคที่เกี่ยวข้องกับยุงเป็นพาหะนำโรคในพื้นที่รัฐฟลอริดาเฉพาะปีนี้พบแล้วมากกว่า 50 ราย ส่วนงบประมาณรัฐฟลอริดาเพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเฉลี่ยปีละมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 32 ล้านบาท เงินส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งก็ได้ผลบ้างไม่มากนัก

ฝ่ายสนับสนุนโครงการ “ปล่อยยุงปรับแต่งพันธุกรรม” ยังพยายามชี้ให้เห็นถึงค่าใช้จ่ายระยะยาวจะถูกกว่าการทุ่มงบประมาณฉีดพ่นสารเคมีฆ่าเผ่าพันธุ์ยุง

บทสรุปเรื่องนี้น่าสนใจติดตามดูผลลงเอยยังไงตามวิถีประชาธิปไตยแบบอเมริกัน...

อานุภาพ เงินกระแชง