....ชาวโลกต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนกับปริมาณการบริโภคใช้ไฟฟ้าไม่สมดุลกันอย่างยิ่ง อีกทั้งการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลผลิตกระแสไฟฟ้าต้องเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆสวนทางกับความพยายามของชาวโลกเร่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำลายชั้นบรรยากาศโลก

นั่นนำมาสู่คำถามที่ว่า “ถ้าโลกต้องการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่อีกด้านหนึ่งชาวโลกก็ต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย แล้วเราจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลลงได้อย่างไร”

คำตอบจึงถูกมองไปที่ “การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์คือทางออกหรือไม่”

สัดส่วนการบริโภคใช้ไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มากที่สุดของโลกปัจจุบัน สหรัฐฯใช้มากที่สุด 30.5 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยฝรั่งเศส 14.3 เปอร์เซ็นต์ รวมกันเฉพาะ 2 ประเทศนี้สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ปาเข้าไป 45 เปอร์เซ็นต์

ส่วนรองๆลงมาคือ จีน 12.5 เปอร์เซ็นต์ รัสเซีย 7.5 เปอร์เซ็นต์ เกาหลีใต้ 5.2 เปอร์เซ็นต์ แคนาดา 3.6 เปอร์เซ็นต์ ยูเครน 3.0 เปอร์เซ็นต์ เยอรมนี 2.7 เปอร์เซ็นต์ สวีเดน 2.4 เปอร์เซ็นต์ และญี่ปุ่น 2.3 เปอร์เซ็นต์

ส่วนชาติที่จำเป็นต้องพึ่งพากระแสไฟฟ้าผลิตจากนิวเคลียร์มากที่สุดของโลก คือ ฝรั่งเศส 36.8 เปอร์เซ็นต์ สวีเดน 26.7 เปอร์เซ็นต์ ยูเครน 21.7 เปอร์เซ็นต์ ฟินแลนด์ 18.6 เปอร์เซ็นต์ สวิตเซอร์แลนด์ 18.2 เปอร์เซ็นต์ สาธารณรัฐเช็ก 15.8 เปอร์เซ็นต์ ฮังการี 14.6 เปอร์เซ็นต์ เบลเยียม 14.4 เปอร์เซ็นต์ เกาหลีใต้ 10.5 เปอร์เซ็นต์ และสเปน 9.1 เปอร์เซ็นต์

...

ตลอดห้วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โลกพยายามร่วมมือกันลดการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงและสึนามิถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะในญี่ปุ่นเสียหายและกัมมันตรังสีรั่วไหลเมื่อปี 2554

ขณะเดียวกัน ห้วง 5 ปีหลังมานี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเติบโตขึ้นเร็วมาก รวมถึงปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เริ่มกลับมาคึกคักอีกระลอก โดยเฉพาะจีน ปากีสถานและอินเดีย

แม้ว่ากลุ่มชาติเอเชียแปซิฟิก ต่างพยายามเร่งพัฒนาเพิ่มศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนช่วยลดสภาวะโลกร้อน แต่สัดส่วนการผลิตได้กระแสไฟฟ้ากับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าก็ยังไม่สมดุลกันง่ายๆ

ทางเลือกผลิตกระแสไฟฟ้าจากนิวเคลียร์จึงยังอยู่ในแผนพัฒนาพลังงานของหลายประเทศ...

อานุภาพ เงินกระแชง