...โครงการรณรงค์อย่างหนึ่งของประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ผู้นำจีน ท่ามกลางภัยระบาดของโคโรนาไวรัส “โควิด-19” คือ อยากให้ชาวจีน “หยุดกินทิ้งกินขว้าง”

ผู้นำจีนบอกรู้สึกไม่พอใจอย่างยิ่งที่ทราบข้อมูลอาหารเหลือทิ้งทั่วประเทศจีนแต่ละปีมากพอเลี้ยงผู้คนได้มากถึง 30-50 ล้านคน ส่วนข้อมูล “กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล”--WWF อ้างอาหารเหลือทิ้งทั่วประเทศจีนเมื่อช่วงปี 2558 มากถึงราว 17-18 ล้านตัน

ธรรมเนียมคนจีนส่วนหนึ่งเหมือนๆกับชาวเอเชียทั่วไป ถ้าการจัดเลี้ยงใดๆอาหารในงานหมดจาน เจ้าภาพจะถูกตำหนิได้ว่าบกพร่องต่อการต้อนรับแขกเหรื่อผู้มาเยือน ทำให้เจ้าภาพงานเลี้ยงต้องตระเตรียมอาหารเลี้ยงแขกแบบ “เหลือดีกว่าขาด”

แนวทางหนึ่งเพื่อลดปัญหา “กินเหลือทิ้งขว้าง” ของผู้นำสี จิ้นผิง แนะนำให้ใช้ระบบ “เอ็น-1” คือ ถ้ากลุ่มคนรับประทานอาหารมีจำนวนเท่าใดให้ “ลบหนึ่งจานอาหารกับข้าว” เช่น ถ้าร่วมโต๊ะเลี้ยงกินอาหารกัน 10 คน กับข้าวก็ให้มีสูงสุดเพียง 9 อย่าง ไม่ใช่ 10 อย่าง

แต่แนวทางนี้ถูกท้วงติงวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยผ่านสังคมออนไลน์ บ้างว่าเข้มงวดเกินไป บ้างตั้งคำถามกระแนะกระแหนว่า ถ้ารับประทานอาหารคนเดียวที่ร้านก็คงไม่ต้องสั่งอะไรกิน

บ้างโยนกลองใส่เหล่าเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์แหละตัวดี จัดเลี้ยงกันแต่ละครั้งยิ่งใหญ่เหลือเฟือ กินทิ้งกินขว้าง รวมถึงกลุ่มคนพวกชอบอวดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ยิ่งประโคมเรื่องราว สร้างค่านิยมฟุ้งเฟ้อกันอย่างผิดๆ

โครงการรณรงค์ “ลดกินทิ้งกินขว้าง” ใช่ว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในจีน ก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว มหานครเซี่ยงไฮ้เริ่มบังคับใช้มาตรการเข้มงวดทั้งต่อบุคคลและห้างร้านต้อง “รีไซเคิล” อาหารเหลือทิ้งอย่างเหมาะสม หาไม่แล้วต้องถูกลงโทษและปรับลดความน่าเชื่อถือทางสังคม มาตรการนี้ถูกนำไปปรับใช้ในอีกหลายเมืองใหญ่ของประเทศ แต่ผลสำเร็จยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนมากนัก

...

อีกด้านหนึ่ง ข้อมูลสุขภาพของชาวจีนยุคใหม่ก็มีปัญหา “โรคอ้วน” เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ค่าเฉลี่ยคนอ้วนและการบริโภคของชาวจีนมากเพิ่มเข้าใกล้ค่าเฉลี่ยชาวอเมริกันในฐานะผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดของโลกเข้าไปทุกที คนจีนยุคใหม่ไม่น้อยมีพฤติกรรมและค่านิยมการบริโภคแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย....

อานุภาพ เงินกระแชง