ข่าวใหญ่ด้านอวกาศช่วงนี้คงไม่พ้นความสำเร็จในการปล่อย ยานอวกาศ “โฮป” (HOPE) ไปสำรวจดาวอังคารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สร้างประวัติศาสตร์ของโลกอาหรับทัดเทียมคู่แข่งชาติมหาอำนาจ
ดาวอังคารเป็นหมุดหมายสำคัญที่มนุษย์ส่งยานออกไปสำรวจมานานกว่า 20 ปี แต่ที่ทะเยอทะยานมากกว่านั้นก็คือความหวังที่จะมีนักบินอวกาศไปด้วย ซึ่งนับว่าท้าทายยิ่งนักเพราะนักวิทยาศาสตร์ไม่เพียงต้องออกแบบยานที่มีความแข็งแรงปลอดภัย เรื่องของการปกป้องสุขภาพร่างกายของลูกเรือก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด
เมื่อต้นปีนี้ มีกรณีนักบินอวกาศคนหนึ่งบนสถานีอวกาศนานาชาติ เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่บริเวณคอ ซึ่งการรักษาครั้งนั้นประสบความสำเร็จด้วยการใช้ยาบรรเทา โดยต่อสายกับแพทย์บนโลกให้คำปรึกษา แต่สำหรับเส้นทางสู่ดาวอังคาร ทีมนักสำรวจอาจไม่โชคดีแบบนี้ เพราะการสื่อสารหรือจะส่งกลับโลกต้องใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี
แนวคิดการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดและวิธีการทำศัลยกรรมในอวกาศจึงผุดขึ้น หากลูกเรือบนยานต้องเผชิญกับภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ เนื่องจากพวกเขาต้องผจญกับสภาพแวดล้อมที่รุนแรงในระหว่างการเดินทาง อยู่ในสภาวะไร้ น้ำหนัก เจอระดับรังสีสูง ต้องอยู่ในห้องโดยสารหรือชุดแรงดันที่ร่างกายต้องใช้เวลาปรับตัว การเดินทางไปในอวกาศจะเปลี่ยนเซลล์การควบคุมความดันโลหิตและการทำงานของหัวใจ มีผลต่อการกระจายของเหลวในร่างกายทำให้ กระดูกและกล้ามเนื้ออ่อนลง อาจติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
มีการประเมินว่าหากนักบินอวกาศจะต้องผ่าตัดจริงๆ สำหรับลูกเรือ 7 คน อาจมีค่าเฉลี่ยของกรณีผ่าตัดฉุกเฉิน 1 ครั้งทุกๆ 2 ปี 4 เดือนในระหว่างการปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคาร โรคที่คาดการณ์ก็มีไส้ติ่งอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ หรือมะเร็ง อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดภายใต้เงื่อนไขแรงโน้มถ่วงก็ทำได้แล้ว เมื่อเคยมีกรณีนักบินอวกาศได้ตรวจสอบและซ่อมแซมอวัยวะภายในช่องท้องสัตว์ในขณะที่อยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก
...
อุปสรรคที่นักวิทยาศาสตร์ตระหนักคือ ความล่าช้าของการสื่อสารในอวกาศจะทำให้การควบคุมหุ่นยนต์ในระยะไกลมีปัญหา แต่จะสร้างหุ่นยนต์ผ่าตัดให้ทำงานได้อิสระ ก็ไม่แน่ว่าจะพัฒนาได้ทันและมีประสิทธิภาพพร้อมต่อการใช้งานในการเดินทางอันแสนไกลได้หรือเปล่า...เป็นเรื่องที่น่าลุ้น!
ภัค เศารยะ