เวทีประชุมเหล่าผู้นำชาติสมาชิกสหภาพยุโรปหรืออียู 27 ประเทศ ที่กรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงเบลเยียม หารจากภัยระบาดของโคโรนาไวรัสโควิด-19” ได้ข้อยุติเมื่อวันอังคาร 21 ก.ค. หลังถกเถียงกันมาราธอนนาน 4 วัน หรือกว่า 90 ชั่วโมง ตั้งแต่วันศุกร์ 17 ก.ค. ถือเป็นการประชุมสหภาพยุโรปยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งการประชุมครั้งนั้นในฝรั่งเศสใช้เวลาถึง 5 วัน โดยแผนหารือฟื้นเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปครั้งนี้ คือเสนอตั้งกองทุน 750,000 ล้านยูโร ให้ชาติสมาชิกใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้หาข้อสรุปไม่ได้ว่าเงินจำนวนนี้จะปล่อยกู้หรือจ่ายช่วยเหลือแต่ละประเทศอย่างไร แต่ในที่สุดที่ประชุมเห็นพ้องจัดสรรเงิน 390,000 ล้านยูโร ช่วยเหลือชาติสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรงมากที่สุด โดยสเปน จะได้รับความช่วยเหลือเงินก้อนนี้ 140,000 ล้านยูโร หรือเกือบครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ สเปนพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้วทั้งหมดกว่า 3.12 แสนราย ผู้เสียชีวิตกว่า 2.8 หมื่นราย ส่วนเงินกองทุนอีกครึ่งหนึ่งราว 360,000 ล้านยูโร จะปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ชาติสมาชิก

ก่อนหน้านี้ ชาติสมาชิก อาทิ เนเธอร์แลนด์และสวีเดน ต่างต้องการให้เงินจำนวนนี้ใช้ “ปล่อยกู้” แต่ชาติสมาชิกอียูที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจย่ำแย่อยู่แล้ว อาทิ อิตาลีและสเปน ต่างกล่าวหาสหภาพยุโรปไม่ช่วยเหลืออย่างเพียงพอต่อชาติสมาชิกที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากโควิด-19

นอกจากนั้น หลายชาติสมาชิกสหภาพยุโรป ต่างผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ แต่อีกหลายประเทศยังเผชิญสถานการณ์พบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ที่ประชุมเหล่าผู้นำสหภาพยุโรป ซึ่งประชุมกันแบบเผชิญหน้าครั้งแรกนับตั้งแต่สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 รุนแรงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. เกิดความแตกแยกหาข้อสรุปลงตัวไม่ได้ ถึงขนาดนางแองเกลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนี ระบุการประชุมครั้งนี้คงไม่ได้ข้อสรุปใดๆทั้งสิ้น

...

ด้านประธานธนาคารโลก เรียกร้องขยายเวลาพักชำระหนี้แต่ละประเทศไปจนถึงสิ้นปี 2564 โดยมีชาติลูกหนี้แสดงความจำนงแล้วกว่า 42 ประเทศ มูลค่าหนี้ทั้งหมดกว่า 5,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่องค์กรการกุศลหลายแห่งต้องการให้ธนาคารโลกยืดชำระหนี้แต่ละประเทศไปจนถึงปลายปี 2565 ส่วนประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ระบุข้อยุติการประชุมผู้นำอียูครั้งนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์แห่งยุโรป.