วันนี้คนทั่วโลกต่าง “รู้สึกโล่งอก” จากเหตุการณ์ลอบสังหารพล.อ.กัสเซม โซไลมานี” ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ (Quds Force) สังกัดกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม ตามคำสั่งการของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ไม่บานปลายกลายเป็นสงครามความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศนี้

แต่ก็ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน เลวร้ายสุดขั้วเช่นกัน จนเผชิญหน้าทางทหารเป็นครั้งแรก นับแต่ขาดสัมพันธ์มาในปี 1979 ที่กลุ่มนักศึกษาอิหร่านบุกยึดสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะราน...

หากจะว่ากันไปความจริงแล้ว...ทั้งอิหร่านและสหรัฐฯ ต่างไม่ต้องการ “เปิดศึกสงคราม” ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้ เพราะมีต้นทุนสูงมาก ทำให้นำมาสู่สถานการณ์ต่างยอมถอยกันคนละหนึ่งก้าว เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุ “เผชิญหน้าทางทหารเต็มรูปแบบ” หลังจาก “อิหร่าน” ปฏิบัติการโจมตีฐาน “ทัพสหรัฐฯในอิรัก”

เหตุเมื่อช่วงต้นปี “เพนตากอน” ยอมรับว่า มีนายทหารอเมริกันประจำอิรัก บาดเจ็บ 34 นาย โดย 17 นายกลับปฏิบัติหน้าที่แล้ว ส่วนที่เหลือยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทหาร ประเทศเยอรมนี มี 8 นาย อาการสาหัส ทำให้ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศคว่ำบาตรกับรัฐบาลอิหร่าน เพื่อตอบโต้การใช้ขีปนาวุธโจมตีฐานทัพสหรัฐฯในอิรัก

แม้ไม่มีการเผชิญหน้าทางทหารกัน แต่ในหลายพื้นที่ของตะวันออกกลางก็เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างพันธมิตรของอิหร่านและสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องจับตาความขัดแย้งนี้กันต่อไป

...

ความตึงเครียดของสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ว่านี้ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า หากย้อนไปตรงจุดเริ่มต้นเป้าหมายการลอบสังหารครั้งนี้ภายใต้ “โดนัลด์ ทรัมป์” กำลังมองว่า “โซไลมานี” เป็นบุคคลอันตราย ที่ทรงอิทธิพลสูงกว่าผู้นำอิหร่านด้วยซ้ำ

ด้วยมีบทบาททางการทูตของอิหร่าน ในการขยายอิทธิพลเข้าสู่ดินแดนหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทั้งซีเรีย เลบานอน อิรัก เยเมน รวมถึงขยายอิทธิพลไปถึงบาห์เรนด้วยซ้ำ เพราะประชากรร้อยละ 70 ของประเทศคือ ประชากรชีอะห์

อีกทั้งยังมีบทบาทเชื่อมโยงกลุ่มติดอาวุธชีอะห์ และกลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นอื่นในหลายประเทศของตะวันออกกลาง มีเป้าหมายสำคัญ...“การโจมตีผลประโยชน์ หรือต่อต้านทำลายทหารของสหรัฐฯ”

ในสายตาของสหรัฐฯ “โซไลมานี” คือ “ผู้ก่อการร้าย” แต่สำหรับ “อิหร่าน”...บุคคลนี้คือ “วีรบุรุษของชาติ” เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่แปลกใจ ว่า...“สหรัฐฯ” เห็นควรต้องจัดการกับบุคคลนี้ เพื่อไม่ให้ “อิหร่าน” มีอำนาจต่อรอง...สามารถขยายอิทธิพลท้าทายอำนาจสหรัฐฯต่อไปได้อีก...

แต่ก็มีความเชื่อว่าความขัดแย้ง “อิหร่านและสหรัฐฯ” จะไม่ลุกลามเป็น “สงครามในภูมิภาค” บานปลายเป็น “สงครามโลกครั้งที่ 3” เพราะท่าทีชาติมหาอำนาจพันธมิตรต่างๆของฝ่ายอิหร่าน เช่น จีน รัสเซีย มีท่าทีไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งนี้กลายเป็นสงคราม...ส่วนพันธมิตรฝ่ายสหรัฐฯ ในกลุ่มประเทศยุโรป ก็มีท่าทีไม่สนับสนุนการกระทำครั้งนี้ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ทำให้บทบาทล่าสุดของตัวแทนพันธมิตรของชาติมหาอำนาจนี้ ต่างต้องการให้ใช้หลักทางการทูต ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ ที่ต้องการเห็นความสงบเกิดขึ้น

โดยเฉพาะประเทศจีน ไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพราะมุ่งทำธุรกิจค้าขายน้ำมัน เพื่อพัฒนาประเทศตัวเอง นำไปสู่การเป็นมหาอำนาจเทียบขั้นกับสหรัฐฯให้ได้ ดังนั้น “จีน” ต้องการเวลา “ฟักตัว” ทำให้ไม่ต้องการทำสงครามใหญ่ และเผชิญหน้ากับสหรัฐฯโดยตรงเช่นกัน

เมื่อไม่มีประเทศมหาอำนาจฝ่ายใดต้องการความรุนแรง สะท้อนให้เห็นถึงสภาพความขัดแย้งนี้ยังไม่ครบองค์ประกอบก่อสงครามได้ เพราะปัจจัยสำคัญคือ ประเทศมหาอำนาจต้องมีการจับขั้วอำนาจกัน และ “แบ็กอัป” ให้ประเทศอื่นทำสงครามกับอีกฝ่ายหนึ่ง แต่วันนี้ยังไม่เห็นสัญญาณตรงนั้น

อีกมุม...ในประเทศสหรัฐฯกำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ทำให้...สังคมสหรัฐฯขุดคุ้ยเรื่องราวเชิงลบของ “โดนัลด์ ทรัมป์” นำไปสู่คะแนนเสียงลดลง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงหันมาทำการเมืองยุคเก่าด้วยการดึงความขัดแย้งนี้มาใช้เบี่ยงเบนประเด็นความสนใจ แต่สุดท้ายก็ไม่ยอมให้เกิดสงครามแน่นอน เพราะกระทบต่อคะแนนนิยม

และการทำสงครามครั้งนี้...อาจส่งกระทบต่อผลประโยชน์มากมาย ในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย แต่อย่าวางใจ “โดนัลด์ ทรัมป์” เพราะมักคิดต่างจากประธานาธิบดีสหรัฐฯคนอื่น เช่น ประกาศให้นครเยรูซาเล็ม เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล หรือคว่ำบาตรประเทศมุสลิม ไม่ให้เดินทางเข้าสหรัฐฯ จนมาสั่งสังหารบุคคลสำคัญของอิหร่านนี้

...

ประเด็นน่าสนใจ...ไม่ว่าในเหตุการณ์ลอบสังหาร “โซไลมานี” ซึ่ง “สหรัฐฯ” กำลังยกระดับการโจมตีเป้าหมาย นับจากเหตุ 9/11 ประกาศทำสงคราม “กลุ่มก่อการร้าย” มีเป้าหมายการสังหารเฉพาะผู้อยู่ในเครือข่ายก่อการร้าย หรือบรรดาหัวหน้าฝ่ายก่อการร้าย เช่น ผู้นำไอซิส อุซามะฮ์ บิน ลาดิน ที่ไม่ใช่ผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ

ในวันนี้ “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ยกระดับใช้ความรุนแรง นามของสหรัฐฯ ลักลอบสังหารข้าราชการระดับสูงของประเทศหนึ่ง ลักษณะพุ่งไปยังผู้นำประเทศอื่น ที่ไม่เคยมีผู้นำประเทศใดกระทำเช่นนี้มาก่อน ในโลกอนาคต...สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การก่อสงคราม เผชิญหน้ากันได้ง่าย ในรูปแบบไร้ทิศทางการรบ

ทว่า...สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ “อิหร่าน” มองว่า “สหรัฐฯ” ใช้กองทัพในตะวันออกกลาง มีเป้าหมายท้าทายอำนาจ...หรือพยายามล้มอำนาจระบอบการปกครอง ทำให้ “อิหร่าน” ต้องปกป้องตัวเองใน 3 แบบคือ รูปแบบที่หนึ่ง...ด้วยการรบรูปแบบ “สงครามอสมมาตร” จากกลุ่มกองกำลังติดอาวุธพันธมิตรในพื้นที่ต่างๆต่อสู้กับสหรัฐฯ

รูปแบบที่สอง...ใช้พันธมิตรระดับประเทศต่างๆ เพื่อผลักดันออกจากภูมิภาคตะวันออกกลาง เช่น ในตอนนี้สภาฯอิรักมีมติผลักดันกองทัพสหรัฐฯออกจากประเทศทั้งหมด

สิ่งที่น่าจับตารูปแบบที่สาม...“การโจมตีทางไซเบอร์” มุ่งทำลายผลประโยชน์สหรัฐฯ ที่เรียกว่า...“ไซเบอร์ แอตแท็ก” เพราะ “อิหร่าน” รู้ดีว่า...ไม่มีศักยภาพทางทหาร หรือยุทโธปกรณ์ต่อกรสหรัฐฯได้ จึงใช้ ไซเบอร์ แอตแท็ก ที่เริ่มโจมตีไปแล้ว พร้อมโจมตีด้วยขีปนาวุธในช่วงที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเสียหายฐานข้อมูลสหรัฐฯ

เรื่องสำคัญ...“อิหร่าน” มีบุคลากรที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ทำให้เป็นประเทศ มีความก้าวหน้าในตะวันออกกลาง เทียบประเทศในแถบยุโรปด้วยซ้ำ

...

อีกทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาขีดความสามารถด้านไซเบอร์ ที่บ่มเพาะ “แฮกเกอร์” อิสระ ที่มีฝีมือแฮ็กข้อมูลล้วงความลับหน่วยงานรัฐบาลต่างประเทศ และโจมตีโครงสร้างพื้นฐาน

ย้อนมาที่ประเทศไทย...แม้ความขัดแย้งนี้ไม่มีการตอบโต้ทางทหารกันขึ้น แต่ต้นต่อของความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็น...เรื่องนิวเคลียร์ กองกำลังติดอาวุธ หรือสหรัฐฯตั้งใจเปลี่ยนระบอบการปกครองอิหร่าน ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ที่รอวันระเบิดปะทุเกิดขึ้นแบบต่อเนื่อง

นั่นหมายความว่า...ดินแดนนี้อาจมีก่อการร้ายถี่รุนแรง ดังนั้นย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะวันใด...ที่มีความตึงเครียดรุนแรง จะส่งผลต่อราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น สิ่งใกล้ตัวมากที่สุดคือ “ราคาน้ำมัน” และ ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยในตะวันออกกลางมากมาย เช่น กระทบต่อการท่องเที่ยว ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจากอ่าวเปอร์เซีย เข้ามาท่องเที่ยว และรักษาพยาบาลในเมืองไทยมากมาย

การวางตัวของ “รัฐบาลไทย” มีความสำคัญ ต้องไม่แสดงออกต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะอาจทำให้ประเทศมีความเสี่ยงตกอยู่ในสถานะถูกใช้เป็นเป้าโจมตีของอีกฝ่าย ดังนั้นต้องมีการวางตัวเป็นกลาง และร่วมกับประชาคมโลกขับเคลื่อนยุติความขัดแย้งนี้ทางการทูตอย่างสันติ

...

ผลที่เกิดขึ้นในวันนี้อาจสะท้อนปัญหาความขัดแย้งถูกหมักหมมมานาน กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่มีโอกาสเกิดการปะทะกันได้ทุกเมื่อ ทางออกวิกฤตการณ์นี้ต้องลดระดับการ “เผชิญหน้า” หันมาพูดคุย “เจรจา” กันดีที่สุด...จับตาดูกันต่อไปว่า หลังวิกฤติ “โควิด-19” คลี่คลาย จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง.