สื่อต่างประเทศรายงานว่า ครูฝึกลิงในภาคใต้ของไทยออกมาตอบโต้รายงานขององค์กรพิทักษ์สัตว์ พีต้า ยืนยันว่า มีลิงจำนวนน้อยมากๆ ที่มีส่วนร่วมในการเก็บมะพร้าวเพื่อส่งออก

สำนักข่าว รอยเตอร์ส รายงานว่า เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม องค์กรมนุษย์เพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม หรือ พีต้า (People for the Ethical Treatment of Animals) เผยแพร่รายงานกล่าวหาประเทศไทยว่า ใช้แรงงานลิงอย่างทารุณเพื่อเก็บมะพร้าวส่งออก จนทำให้ห้างสรรพสินค้าหลายเจ้าในอังกฤษแบนผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทย ขณะที่ น.ส. แคร์รี ไซมอนด์ คู่หมั้นของนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ก็ออกมาเรียกร้องให้ห้างฯ อื่นๆ ร่วมแบนมะพร้าวไทยด้วย

พีต้า ระบุในแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ว่า พวกเขาเชื่อว่ามะพร้าวทั้งหมดจากประเทศไทยเป็นมะพร้าวที่ใช้ลิงเก็บมา

นาย นิรัน วงศ์วานิช ครูฝึกลิงเก็บมะพร้าวในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
นาย นิรัน วงศ์วานิช ครูฝึกลิงเก็บมะพร้าวในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

...

อย่างไรก็ตาม นายนิรัน วงศ์วานิช วัย 52 ปี ครูฝึกลิงเพื่อเก็บมะพร้าวที่โรงเรียนฝึกลิงในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตอบโต้รายงานของพีต้า ระบุว่า มะพร้าวส่วนใหญ่ที่ใช้เพื่อการส่งออก มนุษย์เป็นผู้เก็บมาโดยใช้ไม้สอย เพราะต้นมะพร้าวมีความสูงน้อยกว่า และมีไร่มะพร้าวไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ใช้ลิงเพื่อเก็บมะพร้าวจากต้นที่อายุมากซึ่งจะมีความสูงมากกว่า ซึ่งเขาเคยฝึกลิงให้กับชาวไร่เหล่านี้ด้วย

นายนิรันยังปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า ลิงเหล่านี้ถูกทำทารุณกรรม “เรื่องนั้นไม่จริงเลย ผมอยู่กับลิงมามากกว่า 30 ปี ผมมีความผูกพัน มีสายสัมพันธ์กับพวกมัน” นายนิรันเผยอีกว่า ในแต่ละปีเขาฝึกลิงเก็บมะพร้าวเพียง 6-7 ตัวเท่านั้น และยืนยันว่า ไม่มีการตีลิง เพราะจะทำให้ลิงเครียดและไม่ให้ความร่วมมือ

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยก็ออกมาปฏิเสธรายงานของพีต้าเช่นกัน โดยยืนยันว่า การใช้แรงลิงเป็นสิ่งที่แทบจะไม่มีในประเทศไทย โดยน.ส. มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มีชาวไทยที่ปลูกมะพร้าวกว่า 200,000 ครัวเรือน ซึ่งใช้แรงงานคนและเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยว และต่อให้ใช้ลิงทั้งป่ามาเก็บก็ไม่มีทางพอ เพราะเราส่งออกมะพร้าวปีละหลายแสนลูก

อนึ่ง ตามข้อมูลจากรัฐบาล เมื่อปี 2562 ไทยผลิตมะพร้าวมากกว่า 806,000 ตันในพื้นที่ 1,243.7 ตร.กม. และส่งออกน้ำกะทิคิดเป็นมูลค่า 1.23 ล้านบาท โดย 8% ในจำนวนนี้ส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร