ท่ามกลางข่าวเศรษฐกิจโลกซึมๆ ทรุดๆ อินโดนีเซียเพิ่งได้รับการยืนยันยกสถานะโดยธนาคารโลก (World Bank) ให้เป็น “ประเทศรายได้ปานกลางระดับบน” (upper-middle income country) ก้าวพ้นสถานะ “ประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง” (lower-middle income country) เรียบร้อยโรงเรียนเมืองอิเหนา

ธนาคารโลกใช้ “รายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัวประชากร” (gross national income : GNI) เป็นเกณฑ์วัด

ประเทศรายได้ปานกลางระดับบนวัดกันที่มีจีเอ็นไอต่อหัวประชากร 4,046-12,535 ดอลลาร์ (ราว 125,696-383,769 บาท)

ประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง วัดที่จีเอ็นไอต่อหัว 1,036-4,045 ดอลลาร์ (ราว 32,185-125,665 บาท)

ใครมีจีเอ็นไอต่ำกว่า 1,036 ดอลลาร์ต่อหัว ถือเป็นประเทศรายได้ต่ำ ใครมีจีเอ็นไอต่อหัวเกิน 12,535 ดอลลาร์ เป็นประเทศรายได้สูง

อินโดนีเซียมีจีเอ็นไอต่อหัวในปี 2562 อยู่ที่ 4,050 ดอลลาร์ (ราว 125,821 บาท) เพิ่มขึ้นจาก 3,840 ดอลลาร์ เมื่อปี 2561 หลังมีความก้าวหน้าลดปัญหาความยากจนในรอบ 15 ปีหลังจนลดมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 10% กลุ่มชนชั้นกลางยังเพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 20% หรือประมาณ 52 ล้านคน ของประชากรรวม 251 กว่าล้านคน

แต่ยังมี 45% หรือประชากร 115 ล้านคน พ้นภาวะยากจนแต่เป็นคนชั้นกลางปลอมๆ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจไม่เพียงพอ

การระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจทำให้ตัวเลขน่ายินดีกลับหัวกลับหาง ยอดคนถูกตกงานและคนยากจนเพิ่มมากกว่าช่วงสถานการณ์ปกติ

ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจอินโดนีเซียที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแถบอาเซียน โตอยู่ที่ 0%

ผอ.ฝ่ายวิจัยแห่งศูนย์ปฏิรูปเศรษฐกิจอินโดนีเซีย (Core) ยังภูมิใจกับสถานะใหม่ ถือเป็นดัชนีวัดบอกว่า ผลประกอบการเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น แม้มีวิกฤติการระบาดของไวรัส

...

เพียงแต่ต้องเตรียมพร้อมปฏิรูปโครงสร้างเร่งฟื้นฟูหลังยุคไวรัส เลี่ยงติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

ถือเป็นโจทย์ใหญ่ยักษ์ที่อินโดนีเซียต้องก้าวข้ามไปให้ได้ต่อไป.

เกรียงศักดิ์ จุนโนนยางค์