สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออีมีพื้นที่ 8.3 หมื่นตารางกิโลเมตร มีประชากร 9.9 ล้านคน คนยูเออีมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 4.1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.3 ล้านบาทต่อปี นครดูไบเมืองศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของภูมิภาคตะวันออกกลางก็เป็นส่วนหนึ่งของยูเออี สิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของยูเออีให้ก้าวหน้าคือ ธุรกิจน้ำมันและแรงงานต่างชาติ

จากการขยายตัวของเมืองต่างๆ ทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การพลิกเมืองทะเลทรายให้กลายเป็นจุดหมายสำคัญของนักเดินทางทั่วโลก ทำให้ก่อนหน้าวิกฤติโควิด-19 ยูเออีมีต่างชาติอพยพเข้าไปทำงานมากถึง 8 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากเอเชียใต้อย่างอินเดีย บังกลาเทศ และปากีสถาน รวมทั้งแรงงานจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างฟิลิปปินส์และไทยความที่มีแรงงานต่างชาติจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลของยูเออีกลัวจนต้องออกนโยบาย Emiratisation เพื่อกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำของลูกจ้างสัญชาติยูเออีต่อจำนวนลูกจ้างทั้งหมดขององค์กร ที่ต้องมี Emiratisation เพราะต้องการลดอัตราการว่างงานของชาวยูเออี และลดการพึ่งพิงแรงงานรวมถึงผู้เชี่ยวชาญต่างชาติมากจนเกินไป

วิกฤติโควิด-19 ทำให้ยูเออีกลุ้มหนัก ตอนนี้แรงงานกว่า 9 แสนคนกำลังทยอยเดินทางกลับประเทศตัวเอง ที่ต้องกลับเพราะมาตรการล็อกดาวน์ การล็อกดาวน์ทำให้แรงงานต่างชาติถูกให้ออกจากงาน แรงงานต่างชาติจำนวนไม่น้อยตอนนี้อยู่แบบไม่มีสวัสดิการผู้ว่างงานรองรับ เมื่อไม่มีเงิน ก็ไม่มีที่อยู่ที่กิน บ้านเกิดของแรงงานเหล่านี้จึงเป็นที่พึ่งสุดท้าย

ผู้อ่านท่านทราบกันดีอยู่แล้วนะครับว่า ผู้คนทางแถบตะวันออกกลาง โดยเฉพาะยูเออีคือเศรษฐีน้ำมัน คนที่คิดว่าตัวเองเป็นเศรษฐีไม่ชอบทำงานบริการหรืองานที่ต้องใช้แรงงาน พวกนี้มีทัศนคติว่างานให้บริการและใช้แรงงานเป็นของคนจน

...

คนรวยอย่างพวกข้าต้อง อ้า รับราชการ ชาวยูเออีส่วนใหญ่จึงทำงานให้ภาครัฐที่มีรายได้หลักมาจากน้ำมัน ทำให้ยูเออีมีสัดส่วนการพึ่งพาแรงงานต่างชาติสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ รายงานโครงการศึกษาตลาดแรงงานและการอพยพของประเทศอ่าวอาหรับ บอกว่าแรงงานในภาคเอกชนของยูเออีเกือบร้อยละ 90 เป็นแรงงานต่างชาติ

ผู้อ่านท่านที่เคยใช้บริการของสายการบินเอมิเรตส์ก็คงทราบนะครับว่า แอร์และสจ๊วตของสายการบินนี้มีแต่ชาวต่างชาติ พอเกิดวิกฤติโควิด-19 คนเดินทางน้อยลง ภาคการบริการอย่างสายการบินก็กระทบหนัก โควิด-19 ทำให้สายการบินเอมิเรตส์ต้องปลดพนักงานกว่า 3 หมื่นตำแหน่งหรือร้อยละ 30 จากพนักงานทั้งหมด 1.05 แสนคน ซึ่งเป็นการปลดพนักงานจำนวนมากที่สุดในอุตสาหกรรมการบิน ปลดคนไม่พอ สายการบินเอมิเรตส์ยังเตรียมปลดระวางเครื่องบินแอร์บัส A380 อีกร้อยละ 40 ของฝูงบินทั้งหมด

ไม่ว่าจะธุรกิจโรงแรมหรือธุรกิจก่อสร้าง ตอนนี้ก็หยุดชะงักเกือบทั้งหมด เฉพาะดูไบเมืองเดียวมีการลดพนักงานโรงแรมมากกว่าร้อยละ 30 แม้แต่บริษัทก่อสร้างตึกเบิร์จ คาลีฟาห์ ที่สูงที่สุดในโลก ที่คุยหนักหนาว่ามีฐานะการเงินมั่นคงที่สุดในโลก ตอนนี้ก็ลดแรงงาน แถมไม่มีสวัสดิการสำหรับการว่างงาน ทำให้แรงงานอยู่ไม่ได้ เมื่อแรงงานต่างชาติอยู่ไม่ได้ เงินที่เคยไหลเวียนจากการจับจ่ายใช้สอยในยูเออีก็ลดน้อยถอยลง เพราะแรงงานเหล่านี้นี่แหละครับ คือผู้บริโภคส่วนใหญ่ของยูเออี

ทางออกของยูเออี นอกจากจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างงานหลังวิกฤติโควิด-19 แล้ว รัฐบาลยังต้องเตรียมอัดฉีดเงินให้ภาคเอกชนเพื่อให้มีเงินจ้างแรงงานต่างชาติ สำหรับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอยมากไปกว่านี้

เดิม รัฐบาลยูเออีกลัวว่าแรงงานต่างชาติจะเข้ามาแย่งอาชีพคนของตน แต่ตอนนี้คิดกลับกันแล้วครับ รัฐบาลยูเออีกำลังเร่งอนุญาตให้แรงงานต่างชาติได้เข้าไปอยู่ในยูเออีได้อย่างถาวร หรือเพิ่มสวัสดิการให้แรงงานต่างชาติให้เท่ากับแรงงานของชาวยูเออี เพื่อดึงทรัพยากรมนุษย์เหล่านี้เอาไว้พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com