ความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติสีผิว เป็นปมปัญหาที่ละเอียดอ่อนและฝังรากลึกในสังคมสหรัฐอเมริกามายาวนาน เมื่อใดที่มีชนวนเหตุ มักเกิดความรุนแรงตามมา

ดังเช่นกรณีล่าสุด ดีเรค ชอวิน ตำรวจผิวขาววัย 44 ปี ใช้เข่ากดคอจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำวัย 46 ปี เสียชีวิตที่เมืองมินนีอาโปลิส รัฐมินเนโซตา เมื่อ 25 พ.ค. จุดชนวนประท้วงและจลาจลครั้งใหญ่ในเกือบ 80 เมือง จนต้องมีการประกาศภาวะเคอร์ฟิวกว่า 40 เมือง การประท้วงยังปะทุขึ้นในอีกหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งแคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ อิสราเอล บราซิล ฯลฯ

เหตุการณ์ที่ชอวินใช้เข่ากดคอฟลอยด์นานถึง 8 นาที 46 วินาที ขณะทำการจับกุมข้อหาใช้ธนบัตร 20 ดอลลาร์ปลอมซื้อบุหรี่ หลังฟลอยด์ไม่ยอมขึ้นรถเพราะเป็นโรคกลัวที่แคบ และร้องซ้ำๆว่า “ผมหายใจไม่ออก” ก่อนหมดสติและไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ถูกสตรีคนหนึ่งใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายวิดีโอออกเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย

ตอนแรกชอวินถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาและถูกไล่ออกพร้อมเพื่อนตำรวจอีก 3 นาย แต่การประท้วงก็ไม่ยุติ เมื่อถูกกดดันหนักเข้า อัยการจึงเพิ่มข้อหาชอวินรุนแรงขึ้น เป็นฆ่าคนตายโดยเจตนาแต่ไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 40 ปี ส่วนตำรวจอีก 3 นายก็ถูกตั้งข้อหาช่วยเหลือสนับสนุนการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาแต่ไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งมีโทษจำคุกถึง 40 ปีเช่นกัน ทำให้การประท้วงเริ่มซาลง

โกรธแค้น–พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชูโปสเตอร์รูปจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำ ซึ่งถูกดีเรค ชอวิน (รูปเล็ก) ตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดคอนานเกือบ 9 นาทีจนเสียชีวิตที่เมืองมินนีอาโปลิส รัฐมินเนโซตา จุดชนวนประท้วงและจลาจลครั้งใหญ่ ระหว่างการประท้วงที่หน้าโรงพยาบาลเบลวิว นครนิวยอร์ก ทวงถามความยุติธรรมให้ฟลอยด์ (เอเอฟพี)
โกรธแค้น–พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชูโปสเตอร์รูปจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำ ซึ่งถูกดีเรค ชอวิน (รูปเล็ก) ตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดคอนานเกือบ 9 นาทีจนเสียชีวิตที่เมืองมินนีอาโปลิส รัฐมินเนโซตา จุดชนวนประท้วงและจลาจลครั้งใหญ่ ระหว่างการประท้วงที่หน้าโรงพยาบาลเบลวิว นครนิวยอร์ก ทวงถามความยุติธรรมให้ฟลอยด์ (เอเอฟพี)

...

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการจลาจลครั้งนี้ สาเหตุไม่ใช่แค่เรื่องฟลอยด์เท่านั้น แต่เกิดจากความ ขุ่นแค้นสะสมของชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่เห็นว่าพวกตนถูกตำรวจเลือกปฏิบัติโหดร้ายไม่เท่าเทียมมายาวนาน บวกกับความขุ่นแค้นเรื่องความไม่เสมอภาคด้านเศรษฐกิจและสังคม กรณีของฟลอยด์เป็นเพียง “ฟางเส้นสุดท้าย” ขณะที่มีกลุ่มหัวรุนแรงกับพวกฉวยโอกาสท่ามกลางความทุกข์ยากในช่วงวิกฤติโควิด-19 ร่วมผสมโรงเผาบ้านเมืองและปล้นสะดมด้วย

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติสหรัฐฯ คนผิวดำหรือแอฟริกัน-อเมริกัน มีอยู่ราว 13.4% ของประชากรสหรัฐฯ เทียบกับคนผิวขาว 60.4% แต่คนผิวดำมีอัตราถูกตำรวจยิงตายสูงกว่าคนเชื้อชาติผิวสีอื่นๆมาก อีกทั้งมีอัตราถูกจับกุมในคดียาเสพติดและติดคุกสูงกว่าคนผิวขาวและอื่นๆมากเช่นกัน

ขณะที่การจลาจลบานปลาย ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับทวีตข้อความโจมตีผู้ประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสันติว่าเป็นพวกอันธพาล เขายังขู่ว่าถ้ารัฐต่างๆ ซึ่งระดมกองกำลังสำรองของรัฐ (เนชั่นแนล การ์ด) ออกมาช่วยตำรวจปราบจลาจลแล้วยังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ตนจะส่งทหารจากกองทัพเข้าไปปราบปราม

คำขู่ของทรัมป์ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า เขามีอำนาจทำเช่นนั้นหรือไม่ ถ้าผู้ว่าการรัฐนั้นๆ ไม่ยินยอมหรือร้องขอความช่วยเหลือ เพราะอาจถูกยื่นฟ้องคัดค้านในศาลวุ่นวายไปหมด

จริงๆแล้วสหรัฐฯมีกฎหมายที่เรียกว่า “Insurrection Act 1807” หรือ “พ.ร.บ.ปราบการจลาจล ปี 1807” ที่ให้อำนาจประธานาธิบดีสั่งให้ส่งทหารเข้าไปควบคุมปราบปรามการก่อความไม่สงบในระดับรัฐได้ ถ้าผู้ว่าการรัฐร้องขอ หรือรัฐนั้นๆไม่สามารถควบคุมการจลาจลได้ด้วยตัวเอง หรือรัฐนั้นๆฝ่าฝืนกฎหมายของรัฐบาลกลาง แต่การใช้อำนาจที่ว่านี้เคยเกิดขึ้นน้อยมาก

ในช่วง 50 ปีหลัง ประธานาธิบดีเคยส่งทหารเข้าควบคุมรัฐทางภาคใต้ เพื่อรับประกันว่าเด็กผิวดำต้องเข้าโรงเรียนร่วมกับเด็กผิวขาวได้ และเพื่อปกป้องสิทธิพลเมืองในยุคทศวรรษ 1950 และ 1960 ส่วนครั้งสุดท้ายที่มีการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ปราบการจลาจลคือปี 1992 โดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู.บุช ส่งทหารไปช่วยปราบจลาจลที่นครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย หลังศาลตัดสินให้ตำรวจผิวขาวที่ทำร้ายร่างกายร็อดนีย์ คิง ชายผิวดำ ไม่มีความผิด แต่ครั้งนั้นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง

คำขู่ของทรัมป์ว่าจะส่งทหารเข้าควบคุมรัฐต่างๆถูกต่อต้านจากผู้ว่าการหลายรัฐ เพราะเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจโดยพลการ นางเลติเตีย เจมส์ อัยการสูงสุดรัฐนิวยอร์กชี้ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯไม่ใช่ผู้นำเผด็จการที่จะครอบงำรัฐนิวยอร์กได้ ส่วนสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (เอซีแอลยู) ชี้ว่าการใช้ พ.ร.บ.ปราบการจลาจลในขณะนี้ไม่จำเป็น ไร้ความรับผิดชอบและอันตราย เพราะยังไม่มีผู้ว่าการรัฐใดร้องขอ แม้แต่มาร์ค แอสเปอร์ รมว.กลาโหมสหรัฐฯ ก็คัดค้าน ชี้ว่าต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น

ลามถึงต่างแดน–ผู้ประท้วงเอามือ ไพล่หลังนอนบนสนามหญ้าที่เมืองบริสตอลในอังกฤษ ระหว่างการประท้วง “ชีวิตคนดำก็มีค่า” รำลึกถึงจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่ถูกตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดคอเสียชีวิตในสหรัฐฯ (เอพี)
ลามถึงต่างแดน–ผู้ประท้วงเอามือ ไพล่หลังนอนบนสนามหญ้าที่เมืองบริสตอลในอังกฤษ ระหว่างการประท้วง “ชีวิตคนดำก็มีค่า” รำลึกถึงจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่ถูกตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดคอเสียชีวิตในสหรัฐฯ (เอพี)

...

ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชี้ว่า ประธานาธิบดีจะสามารถใช้อำนาจนี้ได้ในกรณีที่รัฐนั้นๆ ไม่สามารถปกป้องคุ้มครองพลเมืองของตนได้ หรือรัฐนั้นๆ ไม่เคารพกฎหมายหรือละเมิดสิทธิพลเมืองเสียเอง

ตัวอย่างหนึ่งก็คือในปี 1957 ประธานาธิบดี ดไวท์ ดี.ไอเซนฮาวเออร์ ส่งทหารไปเมืองลิตเติลร็อก รัฐอาร์คันซอ และให้รัฐบาลกลางเข้าควบคุมกองกำลังสำรองของรัฐ (เนชั่นแนลการ์ด) เพื่อปราบปรามการจลาจล และเพื่อให้รัฐนี้ยุติการแบ่งแยกสีผิวในโรงเรียนรัฐบาลตามที่ศาลสูงสหรัฐฯได้ตัดสินเมื่อ 3 ปีก่อนนั้นว่าผิดกฎหมาย

หากวิกฤตการณ์ยังไม่ยุติลง ทรัมป์ต้องคิดหนักถ้าจะทำตามคำขู่ ขณะที่ถูกต่อต้านจากผู้ว่าการรัฐ ผู้นำท้องถิ่นและประชาชน ซึ่งอาจส่งผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน 3 พ.ย.นี้ด้วย!

บวร โทศรีแก้ว