ต้องยอมรับว่าโลกใหม่หลังโควิด-19 จะเปลี่ยนโฉมไปอย่างไม่มีวันเหมือนเดิม หลายอาชีพเสี่ยงสูญพันธุ์ง่ายๆ แต่ก็ยังมีอีกหลายอาชีพเนื้อหอมสุดๆ พร้อมเป็นดาวรุ่งทำเงิน หลังยุควิกฤติไวรัสครองโลก

อาชีพมาแรงอันดับหนึ่งในยุคโควิด-19 ต้องยกให้ “ดีเวลลอปเปอร์” นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และคนเขียนโปรแกรมผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ สามารถต่อยอดไปสู่อาชีพทำเงินได้หลากหลายเกินจินตนาการ ตั้งแต่การเป็นนักพัฒนาวิดีโอเกม, นักพัฒนาเว็บไซต์ ไปจนถึงนักออกแบบแอปพลิเคชัน ทุกธุรกิจในอนาคตจะต้องพึ่งช่องทางออนไลน์ในการขายของ ใครไม่มีแพลตฟอร์มดิจิทัล ก็เตรียมเก็บกระเป๋ากลับบ้านได้เลย

อีกหนึ่งอาชีพทำเงินหลังวิกฤติยังรวมถึง “ไอที ซัพพอร์ต” คนวางระบบคอมพิวเตอร์ และดูแลระบบคอมพิวเตอร์ในองค์กรยุคนี้การทำงานส่วนใหญ่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นหลัก ทุกบริษัทจึงขาดพวกเขาไม่ได้ เทรนด์อนาคตจะขยับไปสู่การให้บริการในรูปแบบ เอาต์ซอร์ซมากขึ้น รับดูแลระบบคอมพิวเตอร์ทั้งแบบรายเดือนและรายปี เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านไอทีขององค์กร ถึงเวลาคนทำไอทีสร้างธุรกิจเป็นของตัวเองแล้ว ไม่ใช่แค่หน่วยสนับสนุนเงียบๆในบริษัท

...

รองจากหมอและทนายความ คงไม่มีอาชีพไหนจะทำเงินในอเมริกาได้มากเท่า “นักคณิตศาสตร์ประกันภัย” ค่าตัวของคนทำอาชีพนี้สูงลิ่วมาก เพราะต้องอาศัยทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวหลายอย่าง เพื่อประเมิน, วิเคราะห์ และคาดการณ์ถึงผลกระทบด้านการเงินและความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดกับธุรกิจในอนาคต ยิ่งมีวิกฤติไม่คาดฝันอย่าง “โควิด-19” ทุกบริษัทยิ่งนึกถึง “วิศวกรการเงิน” ที่ใช้ความเชี่ยวชาญทางคณิตศาสตร์มาวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีต, ประเมินความเสี่ยงในปัจจุบัน และสร้างโมเดลคาดการณ์อนาคตที่จะเกิดขึ้น เพื่อมองหาโอกาสความเป็นไปได้ทุกทาง ทั้งสิ่งที่ดีที่สุดและแย่ที่สุด ใครอยากเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ต้องรู้รอบทั้งเรื่องคณิตศาสตร์, สถิติประยุกต์, เศรษฐศาสตร์มหภาค, เศรษฐศาสตร์จุลภาค, ทฤษฎีการเงิน, ทฤษฎีดอกเบี้ย และมีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจหลากหลายประเภท

“ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI” หลายปีมานี้มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้คึกคักทั่วโลก เพื่อสร้างความแตกต่างเชิงธุรกิจให้แข็งแกร่งขึ้น วิกฤติโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ทุกภาคอุตสาหกรรมเห็นถึงความสำคัญในการพึ่ง AI มากขึ้น เพราะนี่คืออาวุธเด็ดที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการขาย, วางแผนการตลาด, การบริการลูกค้า ตลอดจนการรักษาความปลอดภัย และป้องกันความเสี่ยงธุรกิจ โรงงานผู้ผลิตยังต้องการ AI มาช่วยตรวจสอบคุณภาพสินค้า ขณะที่ภาคการดูแลสุขภาพ และธุรกิจค้าปลีก เป็นกลุ่มแรกๆที่นำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ เพื่อสร้างประสบการณ์แตกต่างให้ผู้บริโภค

“วิศวกรหุ่นยนต์” ก็เพราะไวรัสทำอะไรหุ่นยนต์ไม่ได้ หลายบริษัทจึงเริ่มเห็นความสำคัญของการใช้หุ่นยนต์เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจ ต่อไปหุ่นยนต์จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆในอุตสาหกรรมการผลิต, การขนส่งสินค้า และระบบสาธารณสุข ขณะที่คนอาจตกงานกันเป็นเบือ เพราะโดนหุ่นยนต์แย่งงานทำจริงๆ

แทบไม่มีธุรกิจไหนไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่คนที่จะอยู่รอดได้ต้องรู้จักปรับตัวเพื่อเข้าถึงลูกค้าทุกช่องทาง “นักการตลาดดิจิทัล” คือผู้ช่วยแสนวิเศษของยุคนี้ ที่จะมาคิดกลยุทธ์การขายผ่านช่องทางออนไลน์ใหม่ๆ เพื่อชดเชยรายได้ที่หดหายไปเกือบ 100% จับตาไว้ให้ดีเม็ดเงินในอนาคตของทุกบริษัทจะทุ่มไปกับการทำการตลาดผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย, ออนไลน์ และวิดีโอแอดเวอร์ไทซิ่ง

“พนักงานคอลเซ็นเตอร์, คัสตอมเมอร์เซอร์วิส และพนักงานขายออนไลน์” ทุกบริษัทต้องการเจ้าหน้าที่ดูแลรับสายให้บริการลูกค้า, ขายสินค้า ตลอดจนให้ข้อมูลกับลูกค้าทางโทรศัพท์และช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะในยามวิกฤติที่คนส่วนใหญ่ออกจากบ้านไม่ได้ อาชีพนี้สามารถทำเป็นฟรีแลนซ์ได้สบายๆ เพราะทำงานจากที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องติดแหง็กอยู่ในออฟฟิศ เหมาะกับยุคโซเชียลดิสแทนซิ่ง และน่าจะมาแรงในยุคหลังโควิด-19 พอๆ กับอาชีพ “พนักงานดีลิเวอรี่” ที่เติบโตราวดอกเห็ด และช่วยหล่อเลี้ยงให้คนมีงานทำในยุควิกฤติหลังชนฝา.

...


มิสแซฟไฟร์