บทความสารคดีของเว็บไซต์สำนักข่าวบีบีซีเผยแพร่เรื่องราวความห่วงใยของผู้คนต่อสถานการณ์การพบเห็น “โลมาเผือก” หรือโลมาสีชมพู ตามพื้นที่ชายฝั่งเกาะฮ่องกง โดยเฉพาะบริเวณใกล้สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ “เช็ค แลป ก็อก” ซึ่งเคยถูกพบเห็นและนับได้มากราว 250 ตัว เมื่อช่วงทศวรรษ 1990 กระทั่งเมื่อช่วงปี 2560 มีความพยายามนับฝูงโลมาเผือกอีกครั้ง แต่นับได้เพียง 32 ตัว หรือลดลงมากถึงกว่า 32 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2560-2561

สาเหตุที่ทำให้ฝูงโลมาเผือกตามพื้นที่ชายฝั่งฮ่องกงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วนั้น เหล่านักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชี้ว่า เพราะหลายปัจจัยตั้งแต่การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล รวมถึงการถมทะเลสร้างสนามบินและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ อย่างรวดเร็ว ปัญหาการจราจรคับคั่งทางทะเล รวมถึงการท่องเที่ยว ปัญหามลภาวะทางน้ำและปัญหาด้านการประมง เพราะชาวประมงไม่ชอบ

ตัวอย่างของปัญหา อาทิ การจราจรทางน้ำคับคั่งบริเวณชายฝั่งฮ่องกงเกือบตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้หลายครั้งพบเห็นโลมาถูกใบพัดเรือพัดตายซากลอยน้ำ อีกทั้งแผนพัฒนาสร้างสะพานและเครือข่ายถนนเชื่อมโยงจุดต่างๆ ล้วนส่งผลกระทบถึงวิถีชีวิตของฝูงโลมาบริเวณนั้น ขณะที่ธุรกิจการล่องเรือเที่ยวชมฝูงโลมาก็ได้รับความนิยมอย่างมากตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

โลมาเผือก หรือที่ชาวประมงฮ่องกงเรียก “ฮัค ไค” หรือ “ปัค ไค” หมายถึง “ดำต้องห้าม” หรือ “ขาวต้องห้าม” บริเวณชายฝั่งฮ่องกงถูกพบครั้งแรกเมื่อช่วงปี พ.ศ.2180 โดยนายปีเตอร์ มุนดี พ่อค้านักเดินเรือชาวอังกฤษ ซึ่งทำธุรกิจค้าใบชาส่งให้อังกฤษ เขาเรียกโลมาเผือกยุคนั้นว่า “ปลาดาบ” ทั้งยังไม่รู้ชัดว่าโลมาเป็นสัตว์เลือดอุ่นและเลี้ยงลูกด้วยนม กระทั่งข้อมูลโลมาชนิดนี้ถูกศึกษาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนรู้ว่าสีอ่อนของโลมาชนิดนี้เพราะมันเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำขุ่นและเป็นสัตว์เลือดอุ่น ทำให้ร่างกายได้รับแสงน้อย จึงทำให้สีผิวหนังพัฒนาเป็นสีสว่าง ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่สีชมพู

...

โลมาเผือกพบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่แถบบังกลาเทศ บรูไน จีนตอนใต้ รวมถึงฮ่องกง ไต้หวัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย หากินอาหารประเภทสัตว์ทะเลเล็กๆน้อยๆ รวมถึงแมงกะพรุน.