รัฐบาลทั่วโลกกำลังงัดทุกมาตรการต่อสู้ไวรัส “โควิด-19” อย่างยากลำบาก คล้ายปีนภูเขาสูงโดยไม่รู้ว่ายอดของมันอยู่ที่ไหน ขณะเดียวกัน ชาวโลกยังเผชิญข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 ท่วมท้นจนเกินรับไหวและที่สำคัญ ไม่รู้ว่าข้อมูลไหนจริงหรือเท็จ อันไหนเป็นแค่ข่าวลือ หรือมีผู้จงใจปล่อยโดยมีเจตนาร้ายแอบแฝง

ตัวอย่างข้อมูลเท็จรวมทั้งข่าวการปิดประเทศต่างๆที่ยังไม่เกิดขึ้น วิธีที่จะได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ง่ายๆคือไปบริจาคเลือด ยุงเป็นพาหะแพร่เชื้อได้ การกินกล้วยป้องกันติดเชื้อโควิด-19 ได้ ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเท็จเหล่านี้นอกจากจะทำให้ผู้คนสับสนหวาดกลัว ยังเป็นอุปสรรคในการต่อสู้โควิด-19 ในประเทศต่างๆด้วย

ข้อมูลเท็จ หรือจริงผสมเท็จ มักถูกส่งต่อกันเร็วมากเป็นไฟลามทุ่ง โดยเฉพาะทางเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ โดยผู้เผยแพร่มีหลากหลาย ทั้งพวกโรคจิตที่ทำเพื่อความสนุกสะใจ พวกนักต้มตุ๋นฉวยโอกาสจากความหวาดกลัวและสับสนแสวงหาผลประโยชน์ ไปจนถึงหวังผลทางการเมืองระดับชาติ

พวกเลวเหล่านี้มีเทคนิคหลากหลายในการแพร่ข่าวลวง หนึ่งในนั้นคือการเผยแพร่บทความหรือภาพและวิดีโอที่ตัดแต่งดัดแปลง ใช้ข้อมูลจริงผสมเท็จแบบแพะชนแกะให้ดูน่าเชื่อถือ เพราะตามปกติ คนมักเชื่อข้อมูลที่ตนเคยรับรู้ว่าจริง แต่แยกแยะไม่ออกว่ามีเท็จผสมอยู่

นอกจากนี้ ธรรมชาติของมนุษย์ มักเชื่อข้อมูลที่ส่งมาจากเพื่อนหรือคนใกล้ชิดที่ตนเชื่อถือ จากนั้นก็รีบส่งต่อกันไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้เช็กความถูกต้องเสียก่อน อาจเป็นเพราะขี้เกียจไม่มีเวลา กลัวตกขบวนข่าวเด็ด หรือเชื่อว่าข้อมูลนั้นเป็นจริงแล้ว

...

เชื่อถือได้-ชาวอเมริกันยืนดูจอวิดีโอของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐฯ ซึ่งสาธิตวิธีการล้างมือที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สถานีรถไฟใต้ดินในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (เอพี)
เชื่อถือได้-ชาวอเมริกันยืนดูจอวิดีโอของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐฯ ซึ่งสาธิตวิธีการล้างมือที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สถานีรถไฟใต้ดินในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (เอพี)

ผลการวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์ (เอ็มไอที) ในสหรัฐฯ ในปี 2561 พบว่า ข่าวลวงหรือข่าวเท็จแพร่กระจายได้เร็วกว่าข่าวจริง บางข่าวเร็วกว่ามากๆ เพราะข่าวเท็จมักถูกออกแบบให้ดึงดูดความสนใจของผู้คน ด้วยการโยงข่าวเข้ากับอารมณ์ความรู้สึกของคน เช่นความตื่นเต้นเร้าใจ หวาดกลัว ความโกรธแค้น

ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการยับยั้งข้อมูลข่าวสารเท็จ คือการหยุดคิดอย่างมีเหตุผล อย่าเพิ่งเชื่อสิ่งที่เห็นและอ่าน และควรตรวจเช็ก “แหล่งข่าว” ก่อนว่ามีอยู่จริงหรือไม่ เป็นแหล่งข่าวจริงหรือปลอมและควรเชื่อแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้เท่านั้น เช่น สำนักข่าวที่ได้รับความเชื่อถือมายาวนาน หรือสถาบันต่างๆที่ทั่วโลกยอมรับ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสุขภาพแห่งชาติของแต่ละประเทศ เช่น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐฯ ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก

ในห้วงเวลานี้ ข้อมูลจาก WHO ซีดีซี และสถาบันสุขภาพแห่งชาติของหลายประเทศ เป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลโควิด-19 ที่น่าเชื่อถือที่สุด เพราะมีการแชร์ข้อมูลกัน มีหลักฐานอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัด รวมทั้งสถิติล่าสุด ไปจนถึงข้อแนะนำและแนวทางต่างๆ เช่น การรักษาสุขอนามัยในบ้านเรือน การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ป้องกันติดเชื้อและยับยั้งการระบาด ไปจนถึงวิธีบริหารจัดการความเครียดจากพิษโควิด-19

ดร.เจสซิกา จัสต์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐฯ เผยว่า ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 เริ่มท่วมท้น “โอเว่อร์โหลด” จนหลายคนรับไม่ไหวแล้ว บางคนถึงกับหยุดรับข่าวสารไปเลยเพราะปวดหัว ไม่รู้อันไหนจริงหรือเท็จ อีกทั้งการรับข่าวร้ายมากๆ ทำให้หวาดวิตกกระวนกระวายด้วย

ดร.เจสซิกาจึงแนะนำว่าให้เลือกรับข้อมูลข่าวสารโดยตรงจากสถาบันที่เชื่อถือได้เท่านั้น เช่น WHO และซีดีซี แต่เตือนให้ระวังพวกนักต้มตุ๋นปลอมแปลงเว็บไซต์หรือบัญชีผู้ใช้ในโซเชียลมีเดียของสถาบันเหล่านี้ด้วย เพราะหลายครั้งพวกมันปลอมแปลงได้ “เนียน” มาก จนผู้คนเชื่อว่าเป็นของจริง

เช็กข่าว-ชายชาวไอวอรีโคสต์ หรือโกตดิวัวร์ สวมหน้ากากอนามัยยืนอ่านข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับในเมืองอาบิดจาน หลังรัฐบาลไอวอรีโคสต์ประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อต่อสู้การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 (เอเอฟพี)
เช็กข่าว-ชายชาวไอวอรีโคสต์ หรือโกตดิวัวร์ สวมหน้ากากอนามัยยืนอ่านข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับในเมืองอาบิดจาน หลังรัฐบาลไอวอรีโคสต์ประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อต่อสู้การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 (เอเอฟพี)

...

ส่วนจอห์น ซิลวา ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาของโครงการรู้ข่าวสาร (News Literacy Project) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แนะนำว่า ผู้ที่เสาะหาข่าวสารเรื่องโควิด-19 ที่ถูกต้อง ควรทำตัวคล้าย “นักข่าว” มืออาชีพ

นักข่าวมืออาชีพจะไม่เชื่อข้อมูลข่าวสารจากกลุ่มหรือองค์กรข่าวที่ตนไม่รู้จักมาก่อนจนกว่าจะตรวจสอบให้แน่ชัดแล้ว และถ้าทำได้ต้องตรวจสอบจากแหล่งข่าวหลายแห่งว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่ เพราะปกติแล้ว ถ้ามีสำนักข่าวไหนรายงานข่าวใหญ่ก่อนใครแบบเจ้าเดียวโดดๆ

ถ้าเป็นข่าวจริง จะมีสำนักข่าวอื่นๆรายงานตามมาเรื่อยๆ เพราะเช็กแล้วว่าเป็นข่าวจริง แต่ถ้าไม่มีใครเล่นข่าวนั้นๆต่อเลย ก็เชื่อขนมกินได้เลยว่าเป็นข่าวปลอม!

นอกจากให้ระวังข่าวปลอมและการปลอมแปลงเว็บไซต์กับบัญชีผู้ใช้ในโซเชียลมีเดียของสำนักข่าวดังๆแล้ว ต้องแยกแยะด้วยว่าอันไหนคือ “ข่าว” (News Stories) และอันไหนคือ “ความคิดเห็น” (Opinion Pieces) ซึ่งถ้าเป็นข่าวต้องมีแหล่งข่าวที่แน่ชัดยืนยันได้ว่ามีตัวตนและให้ข่าวจริงๆ แต่ถ้าไม่มีให้สงสัยไว้ก่อนว่า “ปลอม”!

ในช่วงวิกฤติเช่นนี้ ชาวโลกทุกคนมีหน้าที่ผนึกกำลังกันต่อสู้กับโควิด-19 “ศัตรูที่มองไม่เห็น” ของมนุษยชาติทุกวิถีทาง ซึ่งการต่อสู้กับข้อมูลข่าวสารเท็จที่อันตราย คือหนึ่งในหน้าที่ของพวกเราเช่นกัน!


บวร โทศรีแก้ว