Credit : Dr. Thomas Stidham
การค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลชิ้นเล็กชิ้นน้อยไม่สมบูรณ์นั้น บางครั้งก็อาจให้เบาะแสใหม่ๆ เช่น ฟอสซิลของสัตว์ที่ได้แห่งหนึ่งอาจช่วยนักบรรพชีวินวิทยาเชื่อมโยงถึงกลุ่มสัตว์ในทวีปอื่นๆ ล่าสุด ดร.โธมัส สติดแฮม จากสถาบันบรรพชีวินวิทยาซากดึกดำบรรพ์และบรรพชีวินวิทยาของสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน เผยว่า ซากฟอสซิลนกที่พบในยุโรป เอเชีย แอฟริกา และอเมริกาเหนือ แสดงให้เห็นว่ากลุ่มนกมีการกระจัดกระจายแพร่ หลายในช่วงแรกของวิวัฒนาการ พวกมันเดินทางข้ามมหาสมุทรเพื่อขยายเผ่าพันธุ์อย่างกว้างขวาง
ดร.โธมัส สติดแฮม และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิดเวสเทิร์น ในอริโซนา และพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ในสหรัฐอเมริกา เผยว่าจากการศึกษาฟอสซิลนกพบในหินอายุ 44 ล้านปี ที่พบในทางตะวันออกของรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ได้ระบุว่านกโบราณตัวนี้เป็นสายพันธุ์ใหม่ของนกขนาดเล็กในกลุ่ม Paraortygidae ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว เชื่อว่าซากฟอสซิลนกนี้จะเติมเต็มในช่องว่างในข้อมูลเกี่ยวกับชั้นสัตว์ปีกในอันดับไก่ (Galliformes) โดยเฉพาะเกี่ยวพันกับนกขนาดเล็กจำพวกนกกระทา
ฟอสซิลนกตัวนี้มีแง่มุมที่น่าสนใจก็คือลักษณะคล้ายกับฟอสซิลขนาดเล็กที่มีรูปร่างอันเป็นเอกลักษณ์ของซากฟอสซิล Paraortygidae ก่อนหน้านี้ที่พบในชั้นตะกอนจากที่อื่นๆ แต่มีอายุทางธรณีวิทยาใกล้เคียงกัน อย่างที่พบในนามิเบีย ตั้งอยู่ตอนใต้ของแอฟริกา และอุซเบกิสถานในแถบเอเชียกลาง นักบรรพชีวินวิทยาเผยว่าความเชื่อมโยงเหล่านี้จะช่วยให้เข้าใจชุมชนสัตว์และระบบนิเวศในยุคดึกดำบรรพ์ได้เพิ่มขึ้น.