ข่าวล่ามาเร็วจากเกาหลีใต้เมื่อกี้นี้เอง บอกว่าสายการบินโคเรียนแอร์และเอเชียน่าแอร์ไลน์ ซึ่งเป็น 2 สายการบินใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของเกาหลีใต้ตัดชื่อภาพยนตร์ ‘ชนชั้นปรสิต’ ออกจากรายชื่อภาพยนตร์ที่จะฉายบนเครื่องบิน

ทั้งโคเรียนแอร์และเอเชียน่าแอร์ไลน์ให้เหตุผลตรงกันว่าหนังชนชั้นปรสิตมีฉากที่ยั่วยุทางเพศ ไม่เป็นผลดีต่อผู้โดยสารที่มีอายุน้อย ผมในฐานะที่ดูหนังชนชั้นปรสิตมาแล้ว ขอเรียนครับว่า หนังเรื่องนี้มีฉากที่เกี่ยวดองหนองยุ่งกับการยั่วยุทางเพศน้อยมาก อาจจะน้อยกว่าภาพยนตร์ทั้ง 400 เรื่องที่สายการบินโคเรียนแอร์วางแผนจะนำมาฉายบนเครื่องในปีนี้เสียอีก

ที่พวกคุณตัดหนังชนชั้นปรสิตออก ผมคิดว่าเป็นเพราะคุณอายที่ภาพยนตร์เปิดเผยสถานะที่แท้จริงของคุณมากกว่า คุณตะโกนก้องร้องบอกโลกว่าคุณรวยและพัฒนาแล้ว ผู้คนมีการศึกษาดี คนส่วนใหญ่มีมาตรฐานการครองชีพสูง แต่แท้ที่จริง มีคนรวยเพียงหยิบมือเดียว คนส่วนใหญ่ยังยากจนข้นแค้นแสนสาหัส ประเทศคุณมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง จนเป็นสาเหตุให้มีคนของคุณฆ่าตัวตายเป็นสัดส่วนมากเป็นลำดับต้นของโลกและเป็นอันดับ 1 ของประเทศพัฒนาแล้ว

‘ชนชั้นปรสิต’ ได้ออสการ์ในปีนี้มากถึง 4 รางวัล เพราะการเปิดโปงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของเกาหลีใต้ได้อย่างชัดเจน ทำให้คนดูตกตะลึงพรึงเพริดและเข้าไปค้นหาความจริง จนขณะนี้มีข้อมูลทุกด้านของเกาหลีใต้ลอยเต็มโซเชียลมีเดีย

เกาหลีใต้เป็นสังคมที่เอื้อประโยชน์ระหว่างนักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจ เป็นสังคมที่ทิ้งให้คนส่วนใหญ่ของประเทศลำบาก ภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้ที่รัฐบาลและนักธุรกิจสื่อออกมาให้โลกได้รับรู้เป็นเพียงด้านที่ดีและที่น่าชื่นชมเท่านั้น

...

ขณะที่โลกให้ความสำคัญต่อความสามารถอย่างแท้จริงของมนุษย์กว่าสถาบันการศึกษาและใบปริญญา แต่เกาหลีใต้ยังยึดติดอยู่กับสถาบันบ้าปริญญาบอ จนทำให้เยาวชนและผู้ปกครองถูกกดดันจากการแข่งขันทางการศึกษาอย่างบ้าเลือด สถาบันและใบปริญญากลายเป็นมาตรฐานในการตัดสินอนาคตของคนมากกว่าความสามารถ นักเรียนและผู้ปกครองหมกมุ่นกับการเตรียมตัวสอบแข่งขันมากจนทำให้มีโรงเรียนกวดวิชาเฉพาะในกรุงโซลเพียงเมืองเดียวหลายหมื่นแห่ง การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้พบว่า ใน พ.ศ.2559 ค่าใช้จ่ายมากกว่าร้อยละ 60 ของค่าใช้จ่ายทางการศึกษาทั้งหมดของครอบครัวเกาหลีใต้เป็นเรื่องการกวดวิชา

สินค้าอุตสาหกรรมแทบทุกประเภทในเกาหลีใต้ผลิตโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เป็นอาณาจักรของคนเพียงไม่กี่ตระกูล นายทุนชาติขยายธุรกิจออกไปจนครบวงจรโดยผ่านการลงทุนในบริษัทลูก คนธรรมดาผงาดธุรกิจใหม่ของตนเองได้ยาก เพราะไม่สามารถสู้ต้นทุนการผลิตของกลุ่มบริษัทใหญ่ได้ กลุ่มบริษัทใหญ่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายดาย บางกลุ่มเป็นเจ้าของธนาคารเสียเอง ทำให้บริษัทใหญ่สามารถกระทืบบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กจนแท้งก่อนเกิดได้ไม่ยาก

เมื่อเอ่ยถึงแบรนด์ของสินค้าจากเกาหลีใต้ เราก็จะคุ้นเพียงไม่กี่ชื่อ ฮุนได ซัมซุง แอลจี แดวู ฯลฯ ผิดกับจีนหรือสหรัฐฯที่มีชื่อแบรนด์มากมายหลากหลาย พนักงานของแต่ละกลุ่มบริษัทใหญ่ในเกาหลีใต้มีมากกว่ากระทรวงหรือกองทัพ บริษัทซัมซุงใน พ.ศ.2561 มีพนักงานมากถึง 3.09 แสนคน หรือบริษัทแอลจีในปัจจุบันมีพนักงานมากถึง 8.2 หมื่นคน

ไทยมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมคล้ายเกาหลีใต้ รัฐส่งเสริมให้กลุ่มบริษัทนายทุนชาติขยายธุรกิจได้เกือบทุกประเภท ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ บริษัทนายทุนชาติไปตั้งสาขาของบริษัทเพื่อดูดความมั่งคั่งออกจากชนบทได้ทุกตรอกซอกมุมของประเทศ ไปอำเภอไหนก็เจอร้านค้าของบริษัทใหญ่ที่เข้าไปฆ่าธุรกิจท้องถิ่นอย่างโหดเหี้ยม

เกาหลีใต้ดีกว่าไทยตรงที่นายทุนชาติไม่ลงไปเล่นการเมือง แต่ในเมืองไทย นายทุนชาติลงไปเล่นการเมืองเอง เป็นหัวหน้าและผู้บริหารพรรค นายทุนพวกนี้ใช้เงินมหาศาลทำการเมืองและทำให้การเมืองไทยถูกบริหารแบบธุรกิจ โดยมี ‘ผลกำไร’ ของเจ้าของบริษัทและผู้ถือหุ้นเป็นเป้าหมายหลัก ไม่ใช่ ‘ความอยู่ดีมีสุข’ ของคนส่วนใหญ่.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com