สร้างความวิตกกังวลให้กับทั่วโลก จะเป็นชนวนแห่งหายนะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่ ภายหลังกองทัพสหรัฐฯ รับคำสั่งจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในกรุงแบกแดด เมื่อช่วงเช้าวันศุกร์ สังหารนายพลคาเซม โซไลมานี่ ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษ “คุดส์” วัย 62 ปี ผู้มีบทบาทสำคัญในการแผ่ขยายอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลาง เสียชีวิตพร้อมนายทหารรวม 8 คน

แน่นอนทำให้ “อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี” ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ประกาศกร้าวจะล้างแค้นอย่างสาสม เช่นเดียวกับชาวอิหร่านหลายพันคน ในกรุงเตหะราน แสดงความโกรธแค้นร้องตะโกนไปทั่วท้องถนนสายต่างๆ “ไปตายซะอเมริกา” นอกจากนี้ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง ยังส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมัน ทำให้นักลงทุนวิตกราคาน้ำมันโลกจะปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ทั้งนายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัวเต็งคนสำคัญ ระบุว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ โยนแท่งระเบิดใส่กล่องเชื้อเพลิงเพื่อจุดไฟ รวมถึงนางอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ รัฐแมสซาชูเซตส์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดขึ้นจากความไม่ยั้งคิดของประธานาธิบดีทรัมป์, แนวร่วม และคณะบริหาร ทำให้สหรัฐฯ ใกล้ทำสงครามอีกครั้งในตะวันออกกลาง

...

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่? ผ่าน “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ว่า มีโอกาสเกิดสงครามระดับย่อยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง เนื่องจากในพื้นที่นี้มีสงครามลักษณะตัวแทนหรือกลุ่มย่อย เกิดขึ้นต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มไอเอส กลุ่มย่อย และกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีผู้นำทางทหารของอิหร่านควบคุมกลุ่มเหล่านี้ซึ่งเป็นเครือข่ายก่อการร้าย ส่วนจะบานปลายถึงขั้นเกิด "สงครามโลก" นั้น ไม่น่ามี แต่เป็นสงครามระดับภูมิภาคระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียมากกว่า เพราะรัสเซียสนับสนุนอิหร่าน ส่วนสหรัฐฯ กับกลุ่มพันธมิตรอิสราเอลและซาอุดีอาระเบียได้แทรกแซงเข้าไปในอิหร่าน โดยเฉพาะทรัพยากรบ่อน้ำมัน

ขณะที่อิหร่านสูญเสียผู้นำทหารจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และแน่นอนมีโอกาสที่จะตอบโต้กลับสหรัฐฯ เพื่อความชอบธรรม ซึ่งอาจยื้ดเยื้อเรื้อรังเกิดสงครามตะวันออกกลางที่ยากจะสงบ อย่างสงครามในซีเรีย และหลังจากนี้ไปอาจมีกลุ่มย่อยเกิดขึ้นมา เช่น กลุ่มไอเอส จะเกิดขึ้นอีกครั้ง แม้ “อาบู บาการ์ อัล บักห์ดาดี” หัวหน้ากลุ่มไอเอสได้ถูกสังหารเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม แต่จะมีผู้นำคนใหม่มาแทน

ส่วนสิ่งที่น่ากังวลและน่ากลัวที่สุดต่อมนุษยชาติทั่วโลก จะเกิดการก่อการร้ายข้ามชาติ ไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่ตะวันออกกลาง โดยใช้บุคคลไม่กี่คนในการก่อเหตุ จากการถ่ายทอดยุทธวิธี และผ่านเทคโนโลยีทันสมัย เช่น การเผยแพร่คลิปเชือดคอ เพื่อสร้างความหวาดกลัวโดยไม่ประสงค์ต่อผล ซึ่งนับแต่นี้โอกาสการก่อการร้ายจะรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากอิหร่านมีอุดมการณ์ทางศาสนา และมีการโน้มน้าวคนได้สูงโดยใช้กระบวนการความรุนแรง

“แน่นอนการก่อการร้ายอาจลามไปประเทศแนวร่วมของสหรัฐฯ โดยมีสหรัฐฯ เป็นเป้าหมายเลขหนึ่ง แต่ไม่เหมือนช่วงสงครามเย็น อาจเกิดผลร้ายกับซาอุฯ และอิสราเอล ซึ่งน่าจะกังวลมากกว่า เพราะเป็นพันธมิตรชัดเจน”

นอกจากนี้ในการสังหารนายพลคาเซม โซไลมานี่ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในประเทศของสหรัฐฯ อีกทั้งประธานาธิบดีทรัมป์กำลังโดน "อิมพีชเมนต์" ถอดถอนออกจากตำแหน่ง จึงมีการหยิบยกจุดประกาย "ชาตินิยม" ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ เนื่องจากทรัมป์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรกได้ชูนโยบาย "อเมริกัน เฟิร์สต์" จึงปลุกชาตินิยมอีกครั้งกับชาวอเมริกัน ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปลายปี 2020 นี้ ด้วยการทำสงคราม

"อาจเป็นหนึ่งในยุทธวิธีของทรัมป์ หวังเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เพราะนายพลที่ถูกสังหารไปเกี่ยวข้องกับการสังหารบรรดานักการทูตชาวอเมริกันทั้งหลาย เหมือนกรณี “จอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช” ผู้นำสหรัฐฯ คนที่ 41 ทำสงครามอ่าวเปอร์เซีย แต่โอกาสที่ทรัมป์จะเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยคงไม่ง่าย เพราะโดนอิมพีชเมนต์ และคนประท้วงไม่พอใจทรัมป์ ถึงขนาดจะแยกรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครตออกมา ยิ่งดูแล้วโอกาสกลับมาของทรัมป์คงยาก".

...