เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ต้องพังครืนไม่เป็นท่า เพราะปรับตัวไม่ทันการดิสรัปชันของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ลามไปทั่วทุกภาคธุรกิจจนกลายเป็นโดมิโน ใครจะคิดว่า “Forever 21” แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นขวัญใจวัยรุ่นกระเป๋าแฟบทั้งโลก จะเข้าตาจนต้องยื่นล้มละลาย เดินหน้าสู่แผนปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อฟื้นฟูกิจการ ถือเป็นการปิดตำนานโรบินฮูดเอเชียที่ประสบความสำเร็จที่สุดในอเมริกา ถีบตัวเองจากเด็กปั๊มจนติดอันดับมหาเศรษฐีฟอร์บส์รวยที่สุดในอเมริกา

“โด วอน ชาง” กับภรรยา “จิน ซุก” อพยพจากเกาหลีใต้ไปอยู่แคลิฟอร์เนียตั้งแต่วัยรุ่น เพื่อแสวงหาอนาคตที่ดีกว่า แต่ก็เพราะร่ำเรียนมาน้อย จบแค่มัธยมปลาย พูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้ จึงต้องหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการรับจ้างทำงานหามรุ่งหามค่ำสารพัด ทำหมดทุกอย่างตั้งแต่ล้างจาน, ชงกาแฟ ไปจนถึงเป็นเด็กปั๊ม แลกกับค่าแรงขั้นต่ำชั่วโมงละ 3 ดอลลาร์ ขณะที่ฝ่ายหญิงรับจ้างทำผม และช่วยกันเก็บหอมรอมริบเพื่อเปิดร้านซักรีดเล็กๆเป็นของตัวเอง

ตอนที่เป็นเด็กปั๊มเห็นใครขับรถหรูราคาแพง เขาจะอดถามไม่ได้ว่าทำอาชีพอะไรถึงล่ำซำจัง หลายครั้งได้รับคำตอบว่าทำธุรกิจค้าขายเสื้อผ้า “โด วอน ชาง” จึงบอกตัวเองว่าถ้าอยากมีกินมีใช้กว่านี้ก็ต้องเปิดร้านขายเสื้อผ้าให้ได้

แค่หวังจะได้ลืมตาอ้าปากกับคนอื่นบ้าง ไม่คิดดีเด่นถึงขั้นเป็นมหาเศรษฐีพันล้าน แต่โชคช่วยให้หนุ่มเกาหลีเจอกับโอกาสและเอื้อมมือไปคว้าไว้!! หลังจากทุ่มเททำงานหนักเก็บหอมรอมริบได้ 11,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 1984 ทั้งคู่ก็เริ่มเปิดร้านเสื้อผ้าเล็กๆเป็นของตัวเอง ชื่อว่า “Fashion 21” ตั้งอยู่ย่านไฮแลนด์พาร์ค โดยเซ้งกิจการต่อจากร้านเสื้อผ้าที่เจ๊งไป

...

ถ้าทำการค้าแบบงูๆปลาๆก็คงมาไกลถึงวันนี้ไม่ได้ ก่อนจะเปิดร้าน “Fashion 21” สองสามีภรรยาเดินสำรวจแล้วสำรวจอีกถึงพฤติกรรมของคนย่านนี้ แล้วก็พบว่าคนที่มาเดินช็อปแถวไฮแลนด์พาร์ค ส่วนใหญ่มีรายได้น้อย บ้าช็อปปิ้ง แต่ต้องราคาถูกถึงจะเอา พวกเขาจึงไปกว้านซื้อเสื้อผ้าราคาถูกจากโรงงานมาวางขาย เน้นแบบที่มีดีไซน์แต่ราคาไม่แพง เจาะกลุ่มไปที่คนเกาหลีและเอเชียเป็นหลัก ปรากฏว่าแค่ปีแรกก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า สร้างยอดขายมากกว่า 700,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

เมื่อจับทางได้ถูกแล้ว สองสามีภรรยาจึงเร่งขยายสาขาใหม่ พร้อมเปลี่ยนชื่อร้านเป็น “Forever 21” ด้วยหวังลึกๆว่าจะให้อยู่ยงคงกระพันชั่วลูกชั่วหลาน คราวนี้ชูคอนเซปต์ชัดเจนว่าเป็นแบรนด์สำหรับวัยรุ่นในราคาย่อมเยา นอกจากเรื่องราคาแล้ว ยังมีจุดเด่นในเรื่องขนาดพื้นที่ของร้านที่ใหญ่กว่าร้านค้าปลีกเสื้อผ้าทั่วไป ภายในเวลาไม่กี่ปี “Forever 21” ก็สยายปีกไปทั่วอเมริกา โดยเปิดสาขาใหม่ทุกๆ 6 เดือน และยังบุกตลาดไปทั่วทุกมุมโลก กระทั่งพีกสุด เมื่อปี 2015 สามารถทำรายได้ทะลุ 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีสาขามากกว่า 800 สาขา ใน 57 ประเทศทั่วโลก หนุนส่งให้ทั้งคู่ติดทำเนียบ 400 มหาเศรษฐีฟอร์บส์รวยที่สุดในอเมริกา โดยมีสินทรัพย์รวมกัน 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ฝ่าดงหนามรอดมาได้ทุกวิกฤติ แม้แต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ก็ไม่สะท้าน แต่ร้านค้าปลีกแฟชั่นที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของอเมริกา ทำไมมาพังครืนในตอนนี้ นักวิเคราะห์ต่างชี้ว่า ยอดขายของ “Forever 21” เริ่มซบเซาลงต่อเนื่องมา 2-3 ปีแล้ว เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว วัยรุ่นหันไปซื้อของทางออนไลน์ แทนที่จะเดินช็อปตามห้างฯเหมือนก่อน แถมผู้บริโภคยุคนี้ยังต้องการของดีมีคุณภาพใส่แล้วเก๋ มากกว่าจะช็อปของโหลๆก๊อปแบบชาวบ้าน

ต่อให้ใหญ่แค่ไหนถ้าไม่เร่งปรับตัวยังทำธุรกิจแบบเดิมๆก็มีแต่พังกับพัง!! ผลจากการยื่นล้มละลายครั้งนี้ อาจช่วยชุบชีวิต “Forever 21” ให้กลับมาได้อีกครั้ง โดยแผนแรกต้องเร่งทำคือ ทยอยปิดกิจการในอเมริกา 350 สาขา พร้อมถอนตัวออกจากตลาดเอเชียและยุโรป แล้วหันมาบุกตลาดล่างอย่างเม็กซิโกและประเทศละตินอเมริการายต่อไปที่หนาวๆร้อนๆก็เห็นจะเป็น H&M เจ้าตลาดฟาสต์แฟชั่นสัญชาติสวีดิช ซึ่งกำลังดิ้นทุกทางเพื่อหนีเอาตัวรอดจากหลุมดำ!!

มิสแซฟไฟร์