นายชินโสะ อาเบะ วัย 65 ปี กลายเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่กุมอำนาจยาวนานที่สุด 2,887 วัน เมื่อ 20 พ.ย. ทุบสถิติของทาโร คัตซูรา อดีตนายกฯ 3 สมัย ช่วงปี 2444-2456 อาเบะยังเป็นผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (จี7) ที่กุมอำนาจนานอันดับ 2 รองจากนางแองเกลา แมร์เคิล นายกฯเยอรมนี

อาเบะได้เป็นนายกฯครั้งแรกในปี 2549 และเป็นผู้นำญี่ปุ่นอายุน้อยที่สุดในวัย 52 ปี แต่อยู่ได้แค่ปีเดียวก็ลาออกเพราะมีปัญหาสุขภาพและเกิดเรื่องอื้อฉาวในรัฐบาล ก่อนกลับมาเป็นนายกฯอีกในปี 2555 หลังชูนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซา

ถ้าไม่มีอุบัติเหตุ อาเบะจะกุมอำนาจไปถึงเดือน ก.ย.2564 เป็นอย่างน้อย ซึ่งมีโอกาสสูงมากเพราะฐานอำนาจในพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ของเขายังแข็งแกร่ง ไม่มีใครโดดเด่นทาบรัศมีเป็น “ทายาทอำนาจ” แม้เดือน ก.ย. มีรัฐมนตรี 2 คนลาออกเพราะทำผิดกฎหมายหาเสียงเลือกตั้ง และอาเบะถูกกล่าวหาเล่นพรรคเล่นพวก เลือกเชิญแต่ผู้สนับสนุนเข้าร่วมงานเลี้ยงชมดอกซากุระบานประจำปีของรัฐบาล จนต้องยกเลิกงานนี้ในปีหน้า

โพลล่าสุดของ “เอ็นเอชเค” ระบุว่าแอลดีพีมีคะแนนนิยมสูงถึง 38% ทิ้งห่างพรรคประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ (ซีดีพี) พรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุด ซึ่งมีแค่ 6.3% ส่วนประชาชน 38% ระบุว่ายังไม่สนับสนุนพรรคใดชัดเจน

อย่างไรก็ตาม อาเบะยังต้องเผชิญความท้าทายหลากหลาย รวมทั้งนโยบายอาเบะโนมิกส์ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ซ้ำร้ายญี่ปุ่นยังเปิด “สงครามการค้า” กับเกาหลีใต้ ซึ่งขัดแย้งเรื่องประวัติศาสตร์กันมายาวนาน

ส่วนความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใฝ่สันติซึ่งใช้มาตั้งแต่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเปลี่ยนสถานะและเพิ่มบทบาทให้กองกำลังป้องกันตนเอง (เอสดีเอฟ) หรือกองทัพ ก็ยังไม่สำเร็จ เพราะถูกฝ่ายค้านในสภาต่อต้าน ดังนั้น ในช่วง 2 ปีที่เหลือ เขาจึงต้องเร่งผลักดันเรื่องเหล่านี้อย่างสุดกำลัง

...

ช่วงหลังๆ อาเบะยังพยายามเพิ่มอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลงฮวบฮาบ ขณะที่ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาประชากรสูงวัย เขายังสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เพื่อความมั่นคงของประเทศ และพยายามยุติปัญหาแย่งชิงน่านน้ำดินแดนกับรัสเซีย

ทำสถิติผู้นำยาวนานที่สุดได้แล้ว แต่ “ความสำเร็จ” ยังรอพิสูจน์ฝีมือ!

บวร โทศรีแก้ว