(ถล่มเละ-กลุ่มควันขนาดยักษ์พวยพุ่งขึ้นจากเมืองราส อัล-อิน เมืองยุทธศาสตร์สำคัญทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย หลังถูกกองทัพตุรกีโจมตี เพื่อกวาดล้างกองกำลังชาวเคิร์ด ที่ตุรกีชี้ว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย (เอพี))

หนึ่งในสมรภูมิรบที่ร้อนแรงที่สุดในโลกช่วงนี้ คือกรณี “ตุรกี” ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป แอร์โดอัน ส่งกองทัพรุกโจมตีกองกำลังชาวเคิร์ดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย ภายใต้ปฏิบัติการ “พีซ สปริง” (สันติภาพฤดูใบไม้ผลิ) ตั้งแต่ 9 ต.ค. จนหลายฝ่ายหวั่นว่าสงครามจะลุกลาม

การโจมตีมีขึ้นหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งถอนทหารสหรัฐฯ ทั้งหมดราว 1,000 นายออกจากชายแดนซีเรีย-ตุรกี ซึ่งถูกมองว่าคือ “ไฟเขียว” ให้ตุรกีบุกบดขยี้กองกำลังชาวเคิร์ดซึ่งเคยเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ในการกวาดล้าง “กองกำลังรัฐอิสลาม” (ไอเอส) ในซีเรียตั้งแต่ 4 ปีก่อน จนกระทั่งไอเอสแตกพ่าย จึงไม่แปลกที่ทรัมป์จะถูกกล่าวหาว่า “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล” ชาวเคิร์ดเองก็ชี้ว่าถูกทรัมป์ทรยศ “แทงข้างหลัง”

หลังเกิดกระแส “อาหรับสปริง” เมื่อปี 2554 ส่งผลให้สงครามกลางเมืองซีเรียปะทุขึ้น สหรัฐฯในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา และพันธมิตร ก็เข้าไปช่วยฝ่ายกบฏที่พยายามโค่นล้มประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ขณะที่ “รัสเซีย” และ “อิหร่าน” ก็เข้าไปช่วยฝ่ายรัฐบาลอัสซาด

ต่อมาสหรัฐฯลดระดับการแทรกแซงศึกซีเรียลง ทำให้ฝ่ายรัฐบาลอัสซาดเข้มแข็งขึ้นจนมีท่าทีว่าจะชนะสงคราม อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ หันไปมุ่งเน้นกวาดล้างไอเอสในซีเรียแทน หลังไอเอสยึดดินแดนอิรักและซีเรียได้กว้างขวางและประกาศตั้ง “รัฐอิสลาม” ขึ้นที่เมืองรักกาในซีเรียในปี 2557

...

ระหว่างการกวาดล้างไอเอส สหรัฐฯดึงเอา “กองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย” (เอสดีเอฟ) ฝ่ายกบฏที่ต่อสู้กับรัฐบาลอัสซาดมาเป็นพันธมิตรช่วยสู้รบกับไอเอส โดยเอสดีเอฟมีทั้งนักรบชาวซีเรีย อาหรับ เคิร์ด โดยมีกองกำลังชาวเคิร์ดกลุ่ม “หน่วยปกป้องประชาชน” (วายพีจี) เป็นกองทัพหลัก

ในช่วงสงครามกลางเมือง อัสซาดจำเป็นต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ยึดครองของชาวเคิร์ดตั้งแต่ปี 2555 เพื่อเอากำลังพลไปปราบกบฏในพื้นที่อื่นๆ ทำให้กองกำลังชาวเคิร์ดยึดครองพื้นที่ดังกล่าวได้เกือบทั้งหมด

ส่วนสหรัฐฯหลังปราบไอเอสได้แล้ว ทรัมป์ ก็ตัดสินใจถอนตัวจากซีเรียเพราะเห็นว่าสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมหาศาล “ได้ไม่คุ้มเสีย” และนั่นเป็นโอกาสทองให้ตุรกีรุกเข้าไปบดขยี้กองกำลังชาวเคิร์ดในซีเรีย

แอร์โดอัน ผู้นำตุรกี ชี้แจงว่า ปฏิบัติการ “พีซ สปริง” จำเป็นเพื่อความมั่นคงของชาติและชายแดนตุรกี เพื่อกำจัด “ผู้ก่อการร้าย” และเพื่อปกป้องชาวซีเรียเองจากผู้ก่อการร้าย เพราะ “วายพีจี” เป็นสาขาของ “พรรคแรงงานเคอร์-ดิสถาน” (พีเคเค) กบฏกลุ่มหลักที่ต่อสู้เพื่อแยกดินแดนภาคใต้ตุรกีเป็นเอกราชมายาวนาน

ยอมหยุดยิง-ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป แอร์โดอัน แห่งตุรกี (ขวา) จับมือรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ แห่งสหรัฐฯ ที่ทำเนียบประธานาธิบดี กรุงอังการา เมื่อ 17 ต.ค. ก่อนผู้นำตุรกีตกลงหยุดยิง 5 วัน เพื่อให้กองกำลังชาวเคิร์ดถอนตัวจากเขตปลอดภัย หลังตุรกีบุกโจมตีชายแดนซีเรียตั้งแต่ 9 ต.ค. (เอเอฟพี)
ยอมหยุดยิง-ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป แอร์โดอัน แห่งตุรกี (ขวา) จับมือรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ แห่งสหรัฐฯ ที่ทำเนียบประธานาธิบดี กรุงอังการา เมื่อ 17 ต.ค. ก่อนผู้นำตุรกีตกลงหยุดยิง 5 วัน เพื่อให้กองกำลังชาวเคิร์ดถอนตัวจากเขตปลอดภัย หลังตุรกีบุกโจมตีชายแดนซีเรียตั้งแต่ 9 ต.ค. (เอเอฟพี)

ตุรกียืนยันว่าการรุกโจมตีครั้งนี้สอดคล้องกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิในการป้องกันตนเองตามมาตรา 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และมติของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น (ยูเอ็นเอสซี) ว่าด้วยการต่อสู้การก่อการร้าย เพราะพีเคเคถูกสหภาพยุโรป (อียู) และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ซึ่งตุรกีและสหรัฐฯ ต่างเป็นสมาชิก ขึ้นบัญชีเป็น “องค์กรก่อการร้าย” มานานแล้ว

ตุรกีระบุว่าเป้าหมายของยุทธการพีซ สปริง คือรุกยึดดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียลึกเข้าไปราว 32 กม. ตลอดแนวชายแดนยาว 120 กม. เพื่อกำจัดผู้ก่อการร้ายวายพีจีและตั้ง “เขตปลอดภัย” ขึ้น เพื่อย้ายผู้ลี้ภัยสงครามซีเรียในตุรกีราว 2 ล้านคนไปไว้ที่นั่น

ส่วนวายพีจีเมื่อถูกรุกโจมตีก็หันไปขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลซีเรียศัตรูเก่า โดยทำข้อตกลงยอมให้ซีเรียส่งทหารเข้าไปในเขตยึดครองของตนอีกครั้ง ซึ่งซีเรียก็ส่งทหารเข้าไปยังเมืองมานบิจ จุดยุทธศาสตร์สำคัญแล้ว โดยมีรัสเซียสนับสนุน ขณะที่กองทัพตุรกีเร่งยึดเมืองราส อัล-อิน และทัล อับยาด ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน ทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกัน ลุกลามเป็นสงครามระหว่างซีเรียกับตุรกี

การรุกโจมตีของตุรกียังอาจส่งผลให้ไอเอสที่แตกกระจัดกระจายฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง เพราะพวกไอเอสรวมทั้งนักรบต่างชาติที่ถูกกองกำลังชาวเคิร์ดกักขังอยู่นับหมื่นคนอาจฉวยโอกาสหลบหนี ซึ่งเท่าที่ผ่านมามีสมาชิกครอบครัวและญาติๆของพวกไอเอสหลบหนีแล้วนับพันคน

การบุกโจมตีของตุรกีทำให้นักรบของทั้ง 2 ฝ่ายและพลเรือนเสียชีวิตแล้วหลายร้อยคน และมีผู้อพยพลี้ภัยแล้วกว่า 300,000 คน จนหวั่นว่าจะเกิด “วิกฤติมนุษยธรรม” ขึ้น

ส่วนในสหรัฐฯการถอนทหารจากซีเรียถูกต่อต้านอย่างหนักในสภาคองเกรส ทั้งจากพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน จนทรัมป์ต้องกลับลำ บีบให้ตุรกียุติการโจมตี อีกทั้งสั่งคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐบาลตุรกีบางส่วน ขึ้นภาษีสินค้าเหล็กกล้าจากตุรกี และขู่ว่าถ้าไม่หยุด จะคว่ำบาตรหนักขึ้น เพื่อทำลายเศรษฐกิจตุรกี

...

ทรัมป์เคยบอกว่า เรื่องนี้ปล่อยให้ตุรกีและซีเรียแก้ปัญหากันเอง เพราะไม่ใช่พรมแดนของสหรัฐฯ แถมยังพูดว่ากองกำลังชาวเคิร์ด “ไม่ใช่เทวดา” เขายังส่งจดหมายถึงแอร์โดอัน ลงวันที่ 9 ต.ค. เตือนว่า “อย่าทำเป็นเก่ง” และ“อย่าโง่” แต่กลับถูกแอร์โดอันทิ้งลงถังขยะ

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ส่งรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ และไมค์ ปอมเปโอ รมว.ต่างประเทศไปเจรจากับตุรกี จนตุรกียอมหยุดยิง 5 วัน แลกกับการให้กองกำลังชาวเคิร์ดถอนตัวจากเขตปลอดภัย

แต่สงครามจะยุติลงได้หรือไม่ ยังไม่แน่นอน เพราะแอร์โดอันยืนยันว่ายุทธการ “พีซ สปริง” ต้องสำเร็จลุล่วง ไม่มีใครขวางได้!

บวร โทศรีแก้ว