เคยกำลังนั่งทานอาหารในร้านที่ญี่ปุ่นก็มีพระเข้ามาทำพิธีพรมน้ำมนต์และปัดรังควานในร้าน ต่อมาคนญี่ปุ่นที่รู้จักคนหนึ่งซื้อรถยนต์คันใหม่ เธอรีบขับไปที่วัดเพื่อให้พระทำพิธี ผมนำเรื่องนี้มาเล่าในห้องบรรยาย นักศึกษาคนหนึ่งบอกว่า ตนไปญี่ปุ่นมาหลายครั้ง เห็นแต่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่เคยเห็นพิธีอะไรที่โบร่ำโบราณแบบที่ว่านี้เลย

ผมตอบว่า ถ้าไปเที่ยวปุ๊บแป๊บก็อาจจะไม่เห็น ถ้าไปทำสารคดีที่ต้องเข้าไปถ่ายทำในชุมชนญี่ปุ่นของจริง ก็อาจจะได้เห็น ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็จริง แต่ก็ยังมีพิธีที่ประกอบกันมาตั้งแต่โบราณ ช่วงที่กำลังจะเกิดพายุฮากิบิสเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยทำพิธีปัดเป่าภัยพิบัติ คนญี่ปุ่นเชื่อว่า ความวิปริตทางธรรมชาติมีสาเหตุมาจากวิญญาณอาฆาตของผู้ที่เสียชีวิตแบบผิดธรรมชาติ บางแห่ง มีการท่องคาถาเน็มบุท์ซุที่เรียกกันว่า ‘เฮียะกุมัมเบ็น’ ถึงล้านจบ โดยคนญี่ปุ่นเปล่งพระนามพระพุทธเจ้าว่า ‘นะมุอะมิดะบุท์ซุ’

คนไทยที่มีญาติอยู่ญี่ปุ่นเป็นห่วงเรื่องพายุฮากิบิส เมื่อโทรศัพท์ไปสอบถามญาติที่มีครอบครัวอยู่ที่นั่น ญาติบอกว่าสามีที่เป็นคนญี่ปุ่นเฉยๆไม่ตื่นเต้นตกใจ ข้อดีของคนญี่ปุ่นคือ มีนิสัยยอมรับและปรับตัวต่อภัยพิบัติ มองว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นเรื่องปกติ และพร้อมรับมือตั้งแต่อดีตคนญี่ปุ่นเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติอยู่ตลอดเวลา แต่ละบ้านจะมีหีบหวาย กล่องไม้ไผ่แบบไม่มีฝา บางแห่งมีรถลากสองล้อใช้สำหรับขนข้าวของเมื่อเกิดเพลิงไหม้

คนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า สังคมจะเปลี่ยนแปลงเมื่อภัยพิบัติผ่านพ้นไป มีบันทึกแผ่นดินไหวและสึนามิในอ่าวทะกะซะกิ คาบสมุทรโบโซ จังหวัดชิบะ เมื่อ 23 เดือน 11 ค.ศ.1703 หรือเมื่อ 316 ปีมาแล้ว ผู้บันทึกเหตุการณ์เขียนว่า เกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่องจนถึงกลางเดือน 2 ของปีต่อมา เมื่อแผ่นดินไหวสงบลง ผู้คนต่างร้องตะโกนว่า “บันไซ บันไซ โยะนะโอะฌิ โยะนะโอะฌิ” ซึ่งคำว่า ‘โยะนะโอะฌิ’ มีความหมายว่า ‘การทำให้โลกนี้ดีขึ้น’ นี่คือนิสัยคนญี่ปุ่นที่มีความเชื่อว่า แม้ภัยพิบัติจะทำให้บ้านเมืองพังพินาศ แต่ก็เชื่อว่าสิ่งที่จะก่อร่างสร้างกันใหม่จะดีกว่าเก่า

...

ภัยพิบัติเป็นแรงกระตุ้นให้คนญี่ปุ่นค้นหาวิธีถนอมอาหาร และพวกที่อยู่ริมทะเลบางกลุ่มจะก่อร่างสร้างเมืองอยู่ในที่สูง ส่วนพวกที่อยู่ในพื้นที่ราบก็จะปลูกต้นสนป้องกันลม อย่างในเมืองชิโนะ จังหวัดนะงะโนะ มีป่าสนซึ่งอายุมากกว่า 300 ปีที่ปลูกป้องกันลมแรงซึ่งพัดมาจากเชิงเขายะท์ซุงะตะเกะ คนญี่ปุ่นสืบทอดภูมิปัญญาในการป้องกันภัยพิบัติด้วยการท่องคาถา อย่างเช่นคาถาแคล้วคลาดแผ่นดินไหว ที่แปลว่า ‘ตราบเท่าที่เทพคะฌิมะยังอยู่ ต่อให้ฟ้าดินจะสั่นคลอนอย่างไร ก็ไม่มีวันเคลื่อนไปไหนได้’

คนญี่ปุ่นเชื่อว่า ถ้าเขียนคาถาบทนี้ลงกระดาษ 3 จบ แล้วนำไปติดไว้ที่หน้าบ้าน จะทำให้รอดพ้นภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว ส่วนคนในโทโฮกุ คันโต และโฮะกุริกุ จะท่องคาถา ‘มันเสะอิระกุ’ คนในจังหวัดคะโงะฌิมะและโอกินาวาจะนำพระสูตรไปฝังดินและสร้างเจดีย์ครอบทับ เชื่อว่าเจดีย์นี้จะช่วยให้รอดจากแผ่นดินไหวได้ ขณะเกิดแผ่นดินไหวก็จะท่องคาถาว่า เคียวสุกะ เคียวสุกะ

หลังจากเกิดภัยพิบัติ คนญี่ปุ่นจะไม่นั่งเวทนาโศกาอาดูร และไม่รอขอความช่วยเหลือ แต่จะร่วมมือกันออกค้นหาผู้สูญหาย แบ่งปันอาหาร และสร้างพื้นที่พักพิงชั่วคราว และไม่ได้ช่วยเหลือเฉพาะหมู่บ้านของตัวเองเท่านั้น แต่จะช่วยครอบคลุมทั้งพื้นที่ประสบภัย

ผมอ่านข้อมูลเหล่านี้จากหนังสือ ‘คติชนวิทยาญี่ปุ่น’ ที่เขียนโดย ‘ชมนาด ศีติสาร’ อ่านแล้วก็เข้าใจคนญี่ปุ่นมากขึ้นครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :