(ภาพ)Credit : SARAO/Oxford/NRAO

ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติจาก 15 สถาบัน นำโดยมหาวิทยาลัยนอร์ท เวสเทิร์น ในสหรัฐ อเมริกา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในอังกฤษ หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งแอฟริกาใต้ ในเมืองเคปทาวน์ และหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติในชาร์ลอตส์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เผยการค้นพบหนึ่งในโครงสร้างที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมาในดาราจักร หรือกาแล็กซีทางช้างเผือก

จากการใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุเมียร์แคท (MeerKAT) จำนวน 64 ตัวของหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งแอฟริกาใต้ ทำให้พบรูปทรงคล้ายฟองอากาศที่โป่งเหมือนนาฬิกาทรายขนาดมหึมา น่าจะเกิดจากการระเบิดที่แปลกประหลาดใกล้กับหลุมดำมวลยวดยิ่ง (Supermassive Black Hole) ในทางช้างเผือกเมื่อหลายล้านปีก่อน ทีมวิจัยอธิบายว่า ศูนย์กลางของทางช้างเผือกค่อนข้างสงบเมื่อเทียบกับกาแล็กซีอื่นๆที่มีหลุมดำตรงใจกลาง หลุมดำที่ใจกลางของทางช้างเผือกจะมีกิจกรรมเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว โดยมันจะดูดฝุ่นและก๊าซขนาดใหญ่เป็นระยะๆ เป็นไปได้ที่การกลืนกินอย่างบ้าคลั่งนี้จะก่อเกิดการระเบิดที่ทรงพลังจนกลายเป็นรูปทรงเหมือนนาฬิกาทรายสูงตระหง่าน

นักดาราศาสตร์เชื่อว่าการเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดของเส้นใยกับฟองอากาศ อาจหมายความว่าเหตุการณ์ที่ทรงพลังและสร้างฟองที่มีคลื่นวิทยุนี้ยังมีหน้าที่เร่งอิเล็กตรอนที่จำเป็นต่อการสร้างและปล่อยคลื่นวิทยุจากเส้นใยแม่เหล็ก โดยฟองขนาดมหึมาถูกบดบังด้วยแสงจ้าจากการแผ่รังสีคลื่นวิทยุที่สว่างมากจากใจกลางกาแล็กซี.

...