แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่ละเอียดอ่อนและมีความอ่อนไหวต่ออิทธิพลที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลภาวะในสิ่งแวดล้อม แต่ปะการังปรับตัวอย่างไรกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและจะป้องกันปะการังได้อย่างไร ล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับตัวทางพันธุศาสตร์ในระบบที่เกี่ยวกับน้ำของมหาวิทยาลัยคอนสแตนซ์ ในเยอรมนี พบคำตอบว่าปะการังมีความสัมพันธ์กับแบคทีเรียหลายชนิดในแบบที่เรียกว่าเมตาออร์กานิซึม (metaorganism) คือแนวคิดที่ว่าสัตว์และพืชทุกชนิดมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับจุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้อง

ความสัมพันธ์ของปะการังกับแบคทีเรียหรือจุลสาหร่ายที่มีการสังเคราะห์ด้วยแสงนั้น ช่วยให้ปะการังมีชีวิตอยู่เหมือนพืชที่เกาะอยู่กับที่และติดกับฐานโดยตรง จึงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น รวมถึงแบคทีเรียและจุลินทรีย์อื่นๆ จะมีบทบาทด้านอาหาร การเผาผลาญอาหาร และการป้องกันระบบภูมิคุ้มกันของปะการัง ซึ่งนักวิจัยใช้เวลาทดลอง 21 เดือนในระบบนิเวศทางทะเลที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงในชุมชนแบคทีเรียที่เกี่ยวข้องกับปะการังที่เผชิญกับความเครียด

ผลการทดลองชี้ว่าปะการังบางสายพันธุ์ตอบสนองแบบยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม โดยเชื่อมโยงตัวเองกับแบคทีเรียบางตัว เป็นการเอาตัวรอดที่ประสบความสำเร็จ แสดงให้เห็นว่าปะการังใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางชีวภาพกับแบคทีเรียในรูปแบบต่างๆ ซึ่งผลวิจัยนี้จะนำไปสู่การพัฒนาเพิ่มความยืดหยุ่นของปะการังต่อการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพวกมันอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้แนวปะการังสูญพันธุ์.