อย่างที่รู้กันว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือปัญหาใหญ่ที่สำคัญ และกำลังส่งผลอย่างต่อเนื่องกับโลกของเรา มีส่วนทำให้เกิดภัยพิบัติในแบบต่างๆ คุกคามสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตในโลก โดยเฉพาะกระทบถึงแหล่งอาหาร แหล่งอาศัย ดังนั้น จึงไม่เป็นเรื่องเกินความคาดหมายกับการที่มนุษย์และสัตว์จะโยกย้ายถิ่นที่อยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วการอพยพย้ายถิ่นฐานของมนุษย์และสัตว์ก็มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ เพื่อหลีกหนีพื้นที่อันตราย ความแห้งแล้ง ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม
ทุกวันนี้หลายฝ่ายก็พยายามหาวิธีรับมือและแก้ไขเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน แต่ผลจากการกระทำของมนุษย์ที่สะสมมานานกำลังส่งสัญญาณเด่นชัดขึ้น อย่างกรณีล่าสุด ที่นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันขั้วโลกแห่งนอร์เวย์เกิดความพิศวง หลังจากพบว่าสุนัขจิ้งจอกอาร์กติกเดินจากนอร์เวย์ไปยังแคนาดาในเวลา 76 วัน ซึ่งสุนัขจิ้งจอกตัวนี้ถูกติดเครื่องจีพีเอสไว้และปล่อยกลับสู่ธรรมชาติเมื่อเดือน มี.ค.61
เส้นการเดินทางของสุนัขจิ้งจอกเพศเมียวัยไม่ถึงขวบปี ก็ยิ่งน่าทึ่ง เพราะมันบากบั่นเดินข้ามทะเลน้ำแข็งและธารน้ำแข็งจากหมู่เกาะสปิตส์เบอร์เกนในดินแดนสฟาลบาร์ ของนอร์เวย์ แวะแถวๆกรีนแลนด์เป็นระยะทาง 1,512 กม. ในเวลา 21 วัน ก่อนจะมาถึงหมู่เกาะเอลสเมียร์ของแคนาดาในเดือน ก.ค. ซึ่งนับรวมระยะทางจากนอร์เวย์ถึงแคนาดาคือ 3,506 กม. เฉลี่ยแล้ววันวันหนึ่งมันทำระยะทางได้ 46.3 กม. แถมบางวันก็เดินได้ไกล 155 กม. จนต้องบันทึกว่านี่เป็นการเดินทางไกลที่เร็วที่สุดของสัตว์สายพันธุ์นี้ ทำลายสถิติของสุนัขจิ้งจอกเพศผู้โตเต็มวัยในอลาสกาที่เดินทาง 113 กม. ภายในหนึ่งวัน
ทีมนักวิทยาศาสตร์เผยว่า กรณีดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลต่อความสามารถของสัตว์ในการโยกย้ายถิ่น และการหดตัวของกลุ่มน้ำแข็งขั้วโลกจะทำให้สุนัขจิ้งจอกอาร์กติกไม่อาจข้ามไปไอซ์แลนด์ได้อีกต่อไป ซึ่งสุนัขจิ้งจอกอาร์กติกเป็นสัตว์ที่มีความแข็งแกร่งและอยู่รอดได้ในอุณหภูมิต่ำถึงลบ 50 องศาเซลเซียส แต่ที่มันต้องเดินทางออกจากหมู่เกาะสปิตส์เบอร์เกนก็เพื่อค้นหาอาหารประทังชีวิต
...
เรียกได้ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ ต่างก็อยากจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอาหารอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนทั้งนั้น.
ภัค เศารยะ