ศูนย์นิเวศวิทยาและการอนุรักษ์ของมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ วิทยาเขตเพนรินในมณฑลคอร์นวอลล์แห่งอังกฤษ เผยผลวิจัยใหม่เกี่ยวกับการแพร่กระจายไวรัสที่เป็นอันตรายในหมู่ผึ้ง โดยมีสาเหตุมาจากไรผึ้งที่ชื่อวาร์รัว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Varroa destructor ไรวาร์รัว อาศัยอยู่บนตัวผึ้งและสามารถแพร่กระจายไวรัส “ดีดับเบิลยูวี” (deformed wing virus-DWV) ไปทั่วรังผึ้ง
นักวิจัยอธิบายว่าไรบนตัวผึ้งส่งผลทางอ้อมคือช่วยเพิ่มอัตราการติดเชื้อในหมู่ผึ้ง และแพร่กระจายไวรัสดีดับเบิลยูวีไปยังผึ้งที่อยู่ใกล้เคียง โดยพบว่ามีอัตราการแพร่ระบาดของไวรัสในผึ้งที่อาศัยตามธรรมชาติสูงขึ้น ผึ้งที่ติดเชื้อจะแบ่งปันสภาพแวดล้อมของพวกมันกับผึ้งบัมเบิลบี (bumblebee) ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งการแพร่กระจายของไวรัสดีดับเบิลยูวีนั้นเกี่ยวข้องกับการสูญเสียประชากรผึ้งเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการตายที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว
ไวรัสดีดับเบิลยูวีนั้นมีหลายสายพันธุ์ แต่การวิจัยดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่ไวรัสดีดับเบิลยูวี-บี (DWV-B) ที่ระบุว่าเป็นอันตรายต่อผึ้งมากกว่าไวรัสดีดับเบิลยูวี-เอ (DWV-A) แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าไวรัสสายพันธุ์นี้มีผลต่อผึ้งบัมเบิลบีที่อาศัยในธรรมชาติอย่างไร.