มีการศึกษาจากนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเซาท์ ฟลอริดา ในสหรัฐอเมริกา เมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับท่าทางของผู้บริโภคที่มีผลกระทบต่อการรับรู้รสชาติในการกินอาหาร ซึ่งเผยเวลากินนั้นควรจะนั่งลงกิน เนื่องจากวิจัยพบว่าการยืนกินอาหารเพียงไม่กี่นาทีแต่ทำบ่อยครั้ง สามารถทำให้เกิดความเครียดทางร่างกาย ทำให้รู้สึกรสชาติอาหารอร่อยน้อยลง

ทีมวิจัยเผยว่า แรงโน้มถ่วงมีส่วนผลักดันโลหิตไปยังส่วนล่างของร่างกาย ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นในการสูบฉีดเลือดกลับขึ้นไปด้านบนร่างกายและเร่งอัตราการเต้นของหัวใจ กิจกรรมดังกล่าวจะเปิดใช้งานแกนไฮโปทาลามัส-พิทูอิทารี-อะดรีนัล (hypothalamic-pituitary adrenal axis- HPA axis) นำไปสู่การเพิ่มความเข้มข้นของฮอร์โมนคอร์ติซอล ที่เรียกว่าฮอร์โมนความเครียดซึ่งมีบทบาทต่อหลายโรค ปฏิกิริยาลูกโซ่นี้ลดความไวทางประสาทสัมผัส ส่งผลต่อการประเมินรสชาติอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการรับรู้อุณหภูมิอาหาร และปริมาณการกินโดยรวม

ดังนั้น เมื่อคนเรารู้สึกไม่สบาย แม้จะกินอาหารที่รสชาติดีตามปกติ ก็อาจรู้สึกว่าอาหารไม่อร่อย ทั้งนี้ ทีมวิจัยยืนยันสมมติฐานโดยให้ผู้เข้าร่วมการวิจัย 350 รายประเมินความอร่อยของเมนูพิต้าชิป ซึ่งคนที่ยืนกินให้คะแนนความน่าพอใจน้อยกว่าผู้ที่นั่งกินบนเก้าอี้บุนวม อย่างไรก็ตาม ทีมขยายการวิจัยด้วยการขอให้ผู้เข้าร่วมทดสอบลองกินขนมผลไม้ขณะถือถุงช็อปปิ้งไปด้วย ผู้ที่นั่งและยืนได้รายงานว่าน้ำหนักของที่เพิ่มขึ้นมีส่วนทำให้อาหารมีรสชาติแย่ลง.