ช่วงที่อินเดียกำลังจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯหรือโลกสภา ลากยาวตลอด 6 สัปดาห์ นับแต่วันที่ 11 เม.ย.ไปจนถึงวันที่ 19 พ.ค. ช่วงเวลาเลือกตั้งค่อนข้างนาน แต่ผลเลือกตั้งจะรู้ผลในอีกไม่เกิน 5 วัน นับจากวันปิดหีบเลือกตั้ง
โพลหลายสำนักก่อนเลือกตั้ง ยกให้พันธมิตรพรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นาเรนทรา โมดี จะชนะเลือกตั้งได้ครองเสียงข้างมากในโลกสภาอีกสมัย แต่จะได้ ส.ส.ลดลงเล็กน้อยก็ว่ากันไป
จริงไม่จริงโปรดรอฟังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่โน่นประกาศกันเอาเอง
เรื่องที่น่าสนใจก่อนจะได้ลุ้นผลเลือกตั้งก็ยังมี.....เป็นเรื่องราวของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุมากที่สุดของอินเดีย ชยาม ซารัน เนกี อายุ 102 ปี ชาวเมืองกัลปา เมืองห่างไกลอยู่ลึกเข้าไปในหุบเขาหิมาลัย ประชิดติดพรมแดนจีน
นักประชาธิปไตยวัยอาวุโสที่ยังพอเดินเหินไปไหนมาไหนได้โดยอาศัยแค่ไม้เท้าค้ำยัน ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงตั้งแต่การเลือกตั้งหนแรกของอินเดียในปี 2494 หรือหลังอินเดียได้เอกราชจากอังกฤษ
มุมมองผู้อาวุโสเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่าสำคัญอย่างไร สำนักข่าวบีบีซีส่งทีมงานไปสัมภาษณ์เปิดใจ
นักเลือกตั้งสูงวัยบอกว่า “สมัยโบราณมา อินเดียเคยปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ก่อน มาเป็นเมืองขึ้นและกระทั่งได้เอกราชจากอังกฤษ จึงมีการตัดสินใจกันว่าจะมีเลือกตั้งทุก 5 ปี และควรมีการเลือกคนซื่อสัตย์เพื่อว่าจะดี ก่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ”
ย้อนไปถึงวันเลือกตั้งครั้งแรก วันนั้นถือเป็นหน้าที่ที่ผู้อาวุโสยืนยันว่าต้องใช้สิทธิเลือกตั้งในกัลปา
ตอนนี้พวกเรามีสมบัติ (สิทธิเลือกตั้ง) อยู่ในมือ เป็นหน้าที่ที่ต้องสงวนไว้ จึงไม่เคยพลาดการโหวตแม้แต่ครั้งเดียว
ขอพูดไปถึงคนรุ่นใหม่ ว่าเหตุใดการใช้สิทธิเลือกตั้งจึงมีความสำคัญ
...
“เพราะเป็นหนทางที่จะเลือกคนเข้าไปบริหารประเทศแล้วจะทำให้ประเทศจะเจริญก้าวหน้าต่อไป”
เป็นเสียงประชาธิปไตยที่แม้จะฟังอ่อนล้า แต่คือเสียงคนประชาธิปไตยผู้แน่วแน่มาตั้งแต่ต้น.
เกรียงศักดิ์ จุนโนนยางค์