รถยนต์ขับเคลื่อนอย่างอิสระ นับว่าเป็นยานยนต์แห่งอนาคตที่นักพัฒนาพยายามสร้างให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยิ่งเรื่องของความปลอดภัยมักเป็นคำถามใหญ่ของคนจำนวนมาก ว่าหากนำรถชนิดนี้มาวิ่งสัญจรในเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น เราจะใช้เวลา รอรถนานแค่ไหน รถจะเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาจราจรหรือก่อเกิดอุบัติเหตุหรือไม่
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาเธิร์น แคลิฟอร์เนีย และมหาวิทยาลัยอริโซนา สเตท ในสหรัฐอเมริกา จึงทำการวิจัยเพื่อหาหนทางจัดการกับปัญหาดังกล่าว โดยทดสอบอัลกอริทึมหรือขั้นตอนวิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ด้านการรับรู้ของระบบที่จะขึ้นอยู่กับเครือข่ายประสาทเทียม เพื่ออนุญาตให้รถยนต์อัจฉริยะเข้าใจในสิ่งที่เห็น และด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์แบบใหม่ที่ชื่อ Timed Quality Temporal Logic ก็สามารถระบุความผิดปกติหรือข้อบกพร่องในระบบก่อนที่รถจะเคลื่อนเข้าสู่ถนน
ทีมวิจัยเผยว่า การสร้างอัลกอริทึมการรับรู้ที่แข็งแกร่ง เป็นความท้าทายที่สำคัญต่อระบบการขับเคลื่อนด้วยตนเอง ที่จะช่วยให้ระบุปัญหาเฉพาะเจาะจงได้ ซึ่งในอนาคตทีมหวังที่จะรวมข้อมูลจริงเพื่อฝึกฝนขั้นตอนวิธีการรับรู้เมื่อพบข้อผิดพลาด รวมถึงยืดเวลาการใช้งานแบบเรียลไทม์หรือในช่วงเวลาจริงขณะที่รถยนต์กำลังขับอยู่ เพื่อเครื่องจะตรวจสอบความปลอดภัยแบบเรียลไทม์ได้นั่นเอง.