คนจีนระดับผู้ใหญ่ที่เกี่ยวดองหนองยุ่งกับความเป็นความตายของประเทศ หลายท่านเริ่มกังวลใจเกี่ยวกับอนาคตของจีน ที่ไม่สบายใจ มากก็คือเรื่องที่นักธุรกิจจีนและหน่วยงานท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยกู้เงินธนาคารมาลงทุนในกิจการต่างๆ เป็นการลงทุนที่รู้กันตั้งแต่แรกว่าไม่คุ้ม และไม่สามารถหาเงินมาคืนธนาคารได้
เดิมทุกคนต่างก็หลีกเลี่ยงที่จะพูดเรื่องนี้ แล้วก็ซุกปัญหาไว้ใต้พรม แต่หลังจากที่ผลกระทบจากสงครามการค้า ค.ศ.2018 สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสูงหลายเรื่อง ทั้งสินค้าประเภทเครื่องจักร เหล็ก อะลูมิเนียม และสินค้าประเภทอื่น ทำให้จีนขายของได้น้อยลง ทุกคนรู้ว่าจะซุกปัญหาไว้ไม่ได้อีกแล้ว
ปีที่แล้ว ผมตามพ่อไปเยือนบริษัทเจ้าของโรงงานผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดของจีนที่มณฑลเจ้อเจียงพวกเราตื่นตาตื่นใจกับความใหญ่โตมโหฬารของบริษัทนี้ ชื่นชมกับคำสั่งซื้อที่มาทุกวินาทีจากทั่วโลก ทุกคำสั่งซื้อปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้พนักงานทุกคนได้ชื่นใจ จากนั้นผมได้ไปพักในโรงแรม 5 ดาวซึ่งมีเจ้าของเดียวกับโรงงานอัญมณี ทราบว่าตึกใหญ่ๆ ในเมืองอี้อู รวมทั้งห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในเมืองนี้ก็มีเจ้าของเดียวกัน
ขณะที่เขียนคอลัมน์ของพุธที่ 13 มีนาคม 2562 ผมเพิ่งกลับจากการทานอาหารกับนายธนาคารจากมหานครเซี่ยงไฮ้ท่านหนึ่งซึ่งเดินทางไปเยือนพ่อที่กรุงเทพฯ เมื่อพ่ออวดถึงเจ้าของโรงงานอัญมณีที่ว่า นายธนาคารเล่าว่า ‘เธอล้มแล้ว’ ตอนนี้ได้มายื่นขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีน เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานบริษัทตกงานอย่างฉับพลันทันที นี่ไม่ใช่โรงงานหรือบริษัทเดียวที่ยืนตายและรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง ยังมีอีกเป็นพันเป็นหมื่นแห่งทั่วประเทศ ผมไม่มั่นใจว่า คณะผู้นำจีนสูงสุดซึ่งก็คือ คณะกรรมการประจำกรมการเมือง 7 คน และคณะกรรมการกรมการเมือง 25 คน จะมีศักยภาพแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ลามปามไปทุกทั่วหัวระแหงในครั้งนี้ได้หรือไม่
...
ผู้ใหญ่หลายท่านเริ่มกังวลว่า ความแปรปรวนรวนเรในเศรษฐกิจจีน อาจจะมีผลกระทบต่อความริเริ่มแถบและเส้นทางหรือเส้นทางสายไหมทางบกและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 และอาจจะลามกระทบถึงสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ตั้งโดยจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ AIIB ซึ่งตอนนี้มีสมาชิกมากถึง 58 ประเทศแล้ว
เดิมพวกตะวันตกกีดกันและรอวันที่เศรษฐกิจจีนจะล้ม ทั้งสหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ต่างร่วมขบวนการกีดกันจีนทั้งสิ้น เราเห็นได้ชัดจากการยกเลิกงานด้านโทรคมนาคมของบริษัทหัวเว่ยในประเทศของตนเอง พอถึงตอนนี้ ผลกระทบทางลบย้อนกลับไปเล่นงานประเทศเหล่านั้นเอง ตอนที่เศรษฐกิจจีนเจริญรุ่งเรือง ก็ยังมีการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก จีนซื้อวัตถุดิบจากประเทศตะวันตกมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากออสเตรเลีย เขียนให้เข้าใจง่ายก็คือ ในห้วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมานี้ ออสเตรเลียอยู่ได้เพราะจีน แต่วันนี้ผลกระทบจากจีนเริ่มกระทบเศรษฐกิจออสเตรเลียแล้วเช่นกัน
ผมเคยเรียนรับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพหลายครั้งว่า ถ้าจีนมีปัญหาเศรษฐกิจ โลกก็จะพลอยมีปัญหาใหญ่ตามไปด้วย นักท่องเที่ยวจากจีนออกไปเป็นกลุ่มเป็นก้อนในออสเตรเลียหรือสหรัฐฯ แต่หลังจากเกิดสงครามการค้าและเศรษฐกิจเริ่มไม่ดี นักท่องเที่ยว จีนก็ไม่ไปเที่ยวกันแล้วครับ เมื่อก่อนนักศึกษาชาวจีนฮิตไปเรียนที่สหรัฐฯ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แต่วันนี้ เมื่อเศรษฐกิจเริ่มมีปัญหาก็เริ่มทยอยกลับเมืองจีน รายได้ที่ประเทศตะวันตกเหล่านั้นเคยได้รับ วันนี้ก็ลดน้อยลงไป
เราเสพข่าวจากสื่อที่กำกับดูแลโดยรัฐบาลจีน ก็ได้ข่าวแบบหนึ่ง แต่เมื่อเราฟังข้อมูลจากคนในซีกธนาคารที่สัมผัสกับเศรษฐกิจจีนของจริง เราก็เห็นจีนในอีกภาพหนึ่ง และเริ่มจะตระหนกตกใจกับเศรษฐกิจโลกที่อาจจะย่ำแย่ เพราะเศรษฐกิจจีนร่วง
ไทยต้องเตรียมรับมือให้ดีครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย