ภรรยาของนายฮาคีม อัล-อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรนส่งจดหมายถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย เพื่อขอร้องให้ปล่อยสามี โดยกลัวว่าหากถูกส่งกลับบาห์เรน สามีอาจถูกฆ่า...

สำนักข่าว บีบีซี รายงานเมื่อ 30 ม.ค. ว่า ภรรยาของนายฮาคีม อัล-อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรนออกมาเรียกร้องให้ผู้นำโลกช่วยกันกดดันรัฐบาลไทยให้ปล่อยตัวสามีของเธอ หลังทางการบาห์เรนออกมาระบุว่า ตอนนี้กำลังดำเนินการขั้นตอนการส่งตัวนายฮาคีมกลับประเทศ

ภรรยาของนายฮาคีมซึ่งไม่ประสงค์เปิดเผยนามบอกกับบีบีซีว่า การส่งตัวสามีกลับบาห์เรนอาจทำให้เขาตกอยู่ในอันตราย “ฉันขอเรียกร้องให้ทุกประเทศช่วยเหลือฮาคีม เพราะฉันรู้ว่าหากเขาถูกพากลับไปเขาจะถูกทรมาน และเขาจะถูกฆ่า” หญิงชาวออสเตรเลียวัย 24 ปีรายนี้ยังเผยด้วยว่า เธอได้เขียนจดหมายส่งถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยแล้ว

“อนาคตของเขาอยู่ในมือของคุณแล้ว ได้โปรดช่วยพาสามีของฉันกลับบ้านด้วย” เธอระบุในจดหมายถึงพลเอกประยุทธ์ ซึ่งทนายของเธอยืนยันว่า ได้ส่งจดหมายให้รัฐบาลไทยแล้วในวันพุธที่ 30 ม.ค.

ทั้งนี้ นายอัล-อาไรบี อายุ 25 ปี หนีจากบาห์เรนไปออสเตรเลียในปี 2557 ก่อนที่เขาจะถูกศาลบาห์เรนพิพากษาลับหลังจำเลยให้จำคุกเป็นเวลา 10 ปี ฐานบุกทำลายโรงพักระหว่างการปฏิวัติอาหรับสปริงในปี 2554 แต่นายฮาคีมปฏิเสธ โดยยืนยันว่า ในเวลาเกิดเหตุเขากำลังแข่งขันฟุตบอล และแมตช์นั้นก็ได้รับการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ด้วย หลังจากนั้นในปี 2560 ฮาคีมได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากออสเตรเลีย

ในวันพุธ ภรรยาของฮาคีมเล่าถึงช่วงเวลาที่เธอกับสามีถูกจับกุมหลังเดินทางถึงไทยให้นักข่าวบีบีซีฟังว่า เธอกับสามีมาฮันนีมูนในประเทศไทย ก่อนเจ้าหน้าที่จับในกรุงเทพฯ เมื่อ 27 พ.ย. 2561 “ตำรวจประมาณ 15 คนล้อมพวกเรา แล้วพวกเขาก็ถ่ายรูปถ่ายวิดีโอ จากนั้นก็พาตัวเขาไป ฉันช็อกมาก เรากำลังเที่ยววันหยุดเพราะเราเพิ่งแต่งงานกัน ฉันไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น”

...

กรณีของนายฮาคีมได้รับความสนใจจากทั่วโลก โดยรัฐบาลหลายประเทศกดดันให้ไทยปล่อยตัวนักฟุตบอลรายนี้ ขณะที่กลุ่ม ‘ฮิวแมนไรต์วอตช์’ อ้างว่า นายฮาคีมตกเป็นเป้าเล่นงานของรัฐบาลบาห์เรน เพราะเขาเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตัวยง และมีพี่ชายเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย นายฮาคีมบอกพวกเขาด้วยว่า เคยถูกทางการบาห์เรนทรมานมาแล้วเมื่อปี 2555

เมื่อสัปดาห์ก่อน นายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียก็เขียนจดหมายถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่นกัน โดยเน้นย้ำว่า เรื่องของนายอัล-อาไรบี ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทั้งเขา, รัฐบาล และชาวออสเตรเลีย และยืนยันว่านายอัล-อาไรบีได้รับอนุญาตให้อาศัยในออสเตรเลียอย่างถาวรแล้ว และขอให้รัฐบาลไทยอย่าส่งตัวเขาไปบาห์เรน.