หากคิดถึงประเภทของสุดยอดอาหารที่มีประโยชน์ต้องมีชื่อของ “ควินัว” (quinoa) ติดอันดับอยู่ด้วย เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูง หน้าตาเมล็ดควินัวดูคลับคล้ายพืชตระกูลถั่ว แต่แท้จริงแล้วจัดอยู่ในพืชตระกูลเดียวกันกับผักโขม หัวบีท เป็นที่รู้กันมานานว่าควินัวปลูกสืบทอดกันมานานหลายพันปีในถิ่นของชาวอินคา แถบอเมริกาใต้

แต่เมื่อเร็วๆนี้มีการค้นพบซากเมล็ดพันธุ์โบราณชนิดหนึ่งในแคนาดา ที่เชื่อว่าจะนำไปสู่การเฉลยอดีตของสังคมชนพื้นเมืองทางตะวันออกของรัฐออนทาริโอในแคนาดา เมื่อ 3,000 ปีก่อน

ซากเมล็ดพันธุ์มีลักษณะไหม้เกรียม เป็น 2 เมล็ดเชื่อมติดกันและดูเหมือนมีเปลือกบางๆหุ้มอยู่ นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต มิสซิสซอกา ในแคนาดา ระบุว่าเมล็ดคู่นี้เป็นพืชโบราณชื่อกูสฟุต (goosefoot) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของเมล็ดควินัวที่พบในแถบตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ เมล็ดพันธุ์ดังกล่าวเก่าแก่ย้อนไปถึง 900 ปีก่อนคริสตกาล

นักวิจัยเผยว่าการค้นพบนี้ทำให้การเสาะหาเมล็ดพันธุ์เก่าแก่ในรัฐออนทาริโอกลายเป็นเรื่องพิเศษขึ้นมาทันที โดยเฉพาะทำให้เกิดคำถามชวนคิดว่าในยุคอดีตนั้น ชนพื้นเมืองแคนาดามีการเพาะปลูกค้าขายเมล็ดพันธุ์เหล่านี้หรือไม่ หรือนี่คือจุดเริ่มต้นของการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ เนื่องจากไม่เคยพบหลักฐานของการเพาะปลูกในท้องถิ่นมาก่อน และชนพื้นเมืองในช่วงเวลานั้นก็จะแลกเปลี่ยนแร่ธาตุบางชนิดและวัตถุหิน แต่เมล็ดพันธุ์ที่พบนี้กลายเป็นหลักฐานแรกของการปลูกพืชหมุนเวียนในระบบการแลกเปลี่ยนของชุมชนในอดีต.

ภาพทั้งหมดโดย Credit : Gary Crawford