เหตุก่อการร้ายช็อกโลก สมาชิกกลุ่มติดอาวุธอัล-ชาบับ บุกก่อเหตุโจมตีโรงแรมหรู 5 ดาว ‘ดุสิต ดี2’ ในเครือโรงแรมดุสิตธานีของไทย ที่กรุงไนโรบี เมืองหลวงประเทศเคนยา เมื่อ 15 ม.ค.62 คร่าชีวิตสลดถึงอย่างน้อย 21 ราย บาดเจ็บจำนวนมากนั้น ได้ทำให้ชาวโลกและคนไทยได้เห็นถึงความโหดเหี้ยมของกลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้อีกครั้ง

ถัดจากนั้น ไม่กี่วันต่อมา กองทัพสหรัฐฯในแอฟริกาได้ลงมือปฏิบัติการโจมตีทันที ถล่มฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธ อัล-ชาบับ ใกล้เมืองจิลิบ ภูมิภาคMiddle Juba ในโซมาเลีย เมื่อวันเสาร์ที่ 19 ม.ค. 62 สามารถปลิดชีพสมาชิกกลุ่มอัล-ชาบับไปได้ถึง 52 ราย

เรียกว่า เป็นปฏิบัติการตอบโต้แบบ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ เพื่อพยายามปราบปรามกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง อย่าง อัล ชาบับให้อ่อนเปลี้ยลงไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่ศักยภาพของกลุ่มอัล-ชาบับ ซึ่งเป็นเครือข่ายกับกลุ่มก่อการร้ายอัล เคดานั้น อยู่ในระดับไม่ธรรมดา...

...


*รู้จักกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง ‘อัล-ชาบับ’

กลุ่มอัล-ชาบับ(Al-Shabaab)ชื่อภาษาอาหรับ แปลว่า ‘เยาวชน’ เป็นกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงสุดโต่ง มีฐานอยู่ในโซมาเลีย ประเทศในทวีปแอฟริกาตะวันออก ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี2534 ขณะที่ประเทศโซมาเลียเกิดภาวะระส่ำระสาย หลังเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศเพื่อพยายามต่อต้านอดีตผู้นำเผด็จการ โมฮัมเหม็ด ไซอัด บาร์รี ในช่วงทศวรรษ 1980 ก่อนถูกโค่นอำนาจในปี2534

กลุ่มอัล-ชาบับ ซึ่งประกาศตนสวามิภักดิ์เป็นกลุ่มติดอาวุธเครือข่ายของกลุ่มก่อการราย อัลเคดา ได้เริ่มต้นจากการเป็นปีกฝ่ายการสู้รบของ ‘สหภาพศาลอิสลาม’ (Islamic Courts Unions)ซึ่งเคยควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในกรุงโมกาดิชู เมืองหลวงโซมาเลีย ในปี 2539 ก่อนจะถูกกองกำลังทหารรัฐบาลโซมาเลียเข้ามาช่วยผลักดันให้ออกไปจากกรุงโมกาดิชู ทว่าสหภาพศาลอิสลามซึ่งแตกหนีไปตามแนวชายแดนก็ยังคงคุมพื้นที่ตามชนบทไว้อยู่

*สหรัฐฯ-UK ตีตรา เป็นกลุ่มก่อการร้าย

มีรายงานจากหลายแห่งระบุว่า มีนักรบญีฮัดจากต่างชาติ ไม่ว่าจากประเทศเพื่อนบ้านในแอฟริกา รวมทั้งสหรัฐฯและยุโรป เข้ามายังโซมาเลเซีย เพื่อช่วยกลุ่มอัล-ชาบับ สู้รบ โดยสหรัฐฯและสหราชอาณาจักร(UK) ซึ่งตีตรากลุ่มอัล-ชาบับ เป็นกลุ่มก่อการร้าย คาดประมาณ ว่ากลุ่มอัล-ชาบับ มีนักรบอยู่ในกองกำลังมากถึงประมาณ 7,000-9,000 คน และมีนักรบต่างชาติอยู่ประมาณ 250 คน

สำหรับกลุ่มอัล-ชาบับ ยึดหลักอิสลามนิกายวาฮาบี แบบในซาอุดีอาระเบีย และเคยได้รับความนิยมจากชาวโซมาเลีย แม้ส่วนมากเป็นมุสลิมนิกายซูฟี เพราะได้รับความปลอดภัยในชีวิต หลังจากต้องเผชิญกับภาวะไร้ขื่อแปและความรุนแรงมานานหลายปี แต่แล้ว กลุ่มอัล-ชาบับ ก็ต้องเสื่อมความนิยม จากการที่ไปบุกทำลายสุเหร่านิกายซูฟี

* สายสัมพันธ์อัล-ชาบับ กับกลุ่มติดอาวุธในแอฟริกา

ตามรายงานยังระบุด้วยว่า กลุ่มอัล-ชาบับ อาจจะมีการสานความสัมพันธ์กับกลุ่มติดอาวุธกลุ่มอื่นในแอฟริกา อย่างเช่น กลุ่มโบโกฮารามในไนจีเรีย และกลุ่ม al-Qaeda in the Islamic Maghreb ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมติดอาวุธซึ่งมีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลแอลจีเรีย ซึ่งมีฐานอยู่ในทะเลทรายซาฮารา

บีบีซียังรายงานว่า แกนนำของกลุ่มอัล-ชาบับเคยมีการโต้เถียงกันว่าควรย้ายการสวามิภักดิ์จากกลุ่มอัลเคดา ไปยังกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม หรือไอซิส ดีหรือไม่ หลังจากกลุ่มไอซิสได้ก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มก่อการร้ายหมายเลขหนึ่งของโลกแทน ตั้งแต่เมื่อม.ค.2557 โดยถึงแม้เสียงส่วนใหญ่ของเหล่าแกนนำจะไม่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว แต่ก็ทำให้มีกลุ่มสมาชิกอัล-ชาบับกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งได้แยกตัวออกไป

อาห์เหม็ด อับดี โกดาเน อดีตหัวหน้ากลุ่มอัล-ชาบับในโซมาเลีย โดนกองทัพสหรัฐฯเด็ดชีพ เมื่อปี57
อาห์เหม็ด อับดี โกดาเน อดีตหัวหน้ากลุ่มอัล-ชาบับในโซมาเลีย โดนกองทัพสหรัฐฯเด็ดชีพ เมื่อปี57

...

*สหรัฐฯตั้งรางวัลนำจับ หัวหน้ากลุ่มอัล-ชาบับ 192 ล้าน

สำหรับ หัวหน้าคนปัจจุบันของ กลุ่มอัล-ชาบับ คือ อาห์หมัด อูมาร์ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ อาบู อูไบดาห์ (Abu Ubaidah) โดยทางการสหรัฐฯได้ตั้งเงินรางวัลแก่ผู้บอกเบาะแสในการนำจับหัวหน้ากลุ่มอัล-ชาบับ ถึง 6 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 192 ล้านบาท

ขณะที่ความเหี้ยมโหดของกลุ่มอัล-ชาบับ ยังคงเส้นคงวา และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อ ต.ค.60 รัฐบาลโซมาเลียได้ประณามกลุ่มอัล-ชาบับ จากเหตุวินาศกรรม คาร์บอมบ์ ใช้รถบรรทุกระเบิดโจมตีเป้าหมายในกรุงโมกาดิชู เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากอย่างน้อย 500 ราย จนถือเป็นเหตุนองเลือดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในแอฟริกาตะวันออก ถึงแม้กลุ่มอัล-ชาบับไม่ได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบในเหตุรุนแรงครั้งนี้ก็ตาม

* สหรัฐฯยังคงโจมตีทางอากาศถล่มอัล-ชาบับต่อไป...

ตามรายงานของบีบีซี ชี้ว่า กองทัพสหรัฐฯในแอฟริกายังคงปฏิบัติการโจมตีทางอากาศถล่มกลุ่มอัล-ชาบับอย่างต่อเนื่อง และสามารถปลิดชีพ อาเดน ฮาชิ อัยโร หัวหน้าคนเก่าในปี 2551 และคนต่อมา คือ อาห์เหม็ด อับดี โกดาเน โดนสหรัฐฯเด็ดชีพเมื่อปี 2557

...

ถึงแม้กลุ่มอัล-ชาบับ ได้ถูกทหารกองกำลังสหภาพแอฟริกัน(African Union) จำนวน 22,2000 นาย ได้ผลักดันให้ออกไปจากกรุงโมกาดิชู เมื่อสิงหาคม 2554 และกองกำลังสหภาพแอฟริกันได้คงทหารรักษาการอยู่ที่เมืองท่าสำคัญ คิสมาโย ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งทำให้กลุ่มอัล-ชาบับต้องสูญเสียรายได้สำคัญไป

สหประชาติเคยประเมินในปี 2554 อัล-ชาบับเคยมีรายได้ถึง 70-100 ล้านดอลลาร์ จากค่าธรรมเนียมและศุลกากรที่เก็บจากท่าเรือและสนามบิน ตลอดจนรีดภาษีจากผู้ผลิตในประเทศ

* รบ.ทรัมป์ เดินหน้า อนุมัติแผนโจมตีมากกว่าเดิม

ขณะที่วอชิงตัน โพสต์ ได้รายงานว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้อนุมัติแผนของกระทรวงกลาโหมในการเดินหน้าปฏิบัติการโจมตีกลุ่มอัล-ชาบับในโซมาเลียมากกว่าเดิม เมื่อมีนาคม 2560

ปัจจุบัน สหรัฐฯได้มีทหารอเมริกันประจำการในโซมาเลียกว่า 500 นาย และได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศถล่มเป้าหมายกลุ่มอัล-ชาบับ ถึง 30 ครั้ง ในปี 2560 ซึ่งมากกว่าปฏิบัติการโจมตีเฉลี่ย ในช่วง 7 ปีก่อนหน้า ถึงกว่า 4 เท่า

เพราะถึงแม้ปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มอัล-ชาบับจะอ่อนแอลง จากการถูกสหรัฐฯเดินหน้าโจมตี แต่กลุ่มอัล-ชาบับก็ยังมีศักยภาพในการส่งสมาชิกที่พร้อมสละชีพ ก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งกลุ่มอัล-ชาบับก็ยังคงคุมพื้นที่ในโซมาเลีย ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางใต้ รวมแล้วราว 20%

...

ขณะที่กำลังทหารของกองกำลังสหภาพแอฟริกัน ที่ประกอบด้วย ทหารจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ยูกันดา บุรุนดี เคนยา เอธิโอเปีย และจิบูตี จำต้องถูกลดจำนวนลง โดยมีการถอนกำลังทหารสหภาพแอฟริกันออกไปแล้วประมาณ 1,000 นาย และอีก 1,000 นาย ได้ถอนกำลังตามไปในปี 2561 เนื่องจากโดนตัดงบประมาณการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ท่ามกลางข้อครหามีการทุจริตคอร์รัปชั่นภายในกองกำลังสหภาพแอฟริกัน


*อัล-ชาบับ ประกาศสะท้านโลก อยู่เบื้องหลังโจมตีรร.ดุสิต ดี2

ท่ามกลางเสียงระเบิดและเสียงปืนดังสนั่นหวั่นไหว ที่โรงแรมดุสิต ดี2 เมื่อ 15 ม.ค.และแล้ว กลุ่มอัล-ชาบับได้ออกมาประกาศกร้าวว่าอยู่เบื้องหลังการก่อเหตุโจมตีโรงแรมหรู5 ดาว แห่งนี้ เพื่อต้องการแก้แค้นที่รัฐบาลเคนยาส่งทหารไปช่วยสู้รบในโซมาเลีย ตั้งแต่ปี 2554

ตามรายงานของvoanews ยังเผยว่า ตามความเห็นของเจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งในเคนยา ยังบอกว่า การโจมตีในครั้งนี้เพื่อตอบโต้สหรัฐฯที่ยังคงกำลังทหารอเมริกันในโซมาเลีย อีกทั้งรัฐบาลทรัมป์ยังหวนกลับมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างถาวรในโซมาเลีย เมื่อเดือนก่อน หลังเว้นว่างไปนาน28ปี

ตามความเห็นของศ.เดวิด ชินน์ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน บอกกับvoaว่า ดูเหมือนการปราบกลุ่มอัล-ชาบับในโซมาเลียและกลุ่มติดอาวุธในประเทศเพื่อนบ้านในแอฟริกาให้ราบคาบ ดูจะเป็นงานยากลำบากสำหรับสหรัฐฯและชาติพันธมิตร

‘ประชาคมโลกใช่จะเห็นด้วยกับวิธีการเข้าถึงปัญหาและการแก้ปัญหาแบบนี้เสมอไป เพราะมักมีปัญหาด้านทรัพยากรอย่างหนึ่งเสมอ นั่นคือ จะต้องใช้เงินทุ่มกับเรื่องนี้มากขนาดไหน? มีความสำคัญมากขึ้นหรือไม่ และจะต้องใช้เวลายาวนานแค่ไหนในการแก้ไขปัญหานี้?’ศ.ชินน์กล่าว

พร้อมทิ้งท้ายว่า ‘อัล-ชาบับ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเกมอันยาวนาวนี้ และแสดงให้เห็นถึงการระดมสมาชิกใหม่มาเข้าร่วมกลุ่ม’

และนั่นทำให้เราได้เห็นศักยภาพของกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง ‘อัล-ชาบับ’ที่ สามารถก่อเหตุโจมตีดุสิต ดี2 ได้รุนแรงจนประจักษ์สายตาชาวโลกได้ถึงเพียงนี้..

อ่านข่าว