มีรายงานจากโครงการด้านสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติเผยว่า ปัจจุบันมีขยะพลาสติกถูกทิ้งลงสู่มหาสมุทรถึง 8,000 ล้านกิโลกรัมต่อปี ซึ่งเป็นภัยต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเลและเสี่ยงต่อการแทรกซึมเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ เพราะเศษพลาสติกเป็นขยะที่ยากที่สุดในการรีไซเคิลหรือผ่านกระบวนการแปรสภาพให้นำกลับไปใช้ใหม่
แต่เมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ได้เปิดประตูความสำเร็จในการคิดค้นวิธีจัดการกับขยะพลาสติก ด้วยการแปรสภาพขวดพลาสติกทำจากพอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลตหรือ พีอีที (polyethylene terephthalate-PET) เป็นแอโรเจล (aerogels) ซึ่งเป็นวัสดุขนาดเท่ากระดาษ A4 มีคุณสมบัติอ่อนนุ่ม ยืดหยุ่น ทนทาน และเบา ง่ายต่อการใช้งาน มีศักยภาพเป็นฉนวนกันความร้อน ทนต่ออุณหภูมิสูงได้ถึง 620 องศาเซลเซียส สามารถนำไปใช้กับอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัย เช่น เป็นแผ่นซับความร้อนเสื้อคลุมนักดับเพลิง แผ่นแอโรเจลยังดูดซับขจัดคราบน้ำมันได้ดี กันเสียงในอาคาร หรือใช้ดูดซับคาร์บอนมอนอกไซด์ในหน้ากากอนามัย
ทีมวิจัยเผยว่า วัสดุกันเสียงและทนความร้อนแบบใหม่ที่ทำจากขวดพลาสติกรีไซเคิลแสดงให้เห็นว่า วิศวกรรมและเทคโนโลยีสามารถนำเสนอหนทางแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การลดขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงในมหาสมุทรและหลุมฝังกลบ โดยคาดว่าจะยื่นขอจดสิทธิบัตรได้ในเดือน มี.ค. ปีหน้า.
...