การแข่งขันด้านเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกว่า 80 ปีก่อน ส่งผลให้โลกได้ยลโฉมกับนวัตกรรมใหม่ อากาศยานบินขึ้นลงทางดิ่งโดยไม่ต้องพึ่งรันเวย์เทกออฟ ซึ่งเรียกขานกันในทุกวันนี้ว่า “เฮลิคอปเตอร์”

แม้บริษัทฟอกเกอร์วูล์ฟ ของนาซีเยอรมนีจะนำคอนเซปต์นี้มาใช้งานจริงเป็นรายแรก แต่ต่อมานายอิกอร์ ซิคอร์สกี วิศวกรชาวรัสเซีย-อเมริกัน ได้กลายเป็นผู้ให้คำตอบสุดท้าย คิดรูปแบบการทำงานที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน คือมีใบพัดหลัก 1 ชุด สำหรับให้กำลังขับเคลื่อน และใบพัดหางอีก 1 ชุด คอยทำหน้าที่สำคัญ ต้านแรงทอร์กหรือแรงบิด คุมเครื่องให้อยู่กับที่ไม่ให้หมุนควง

ด้วยความคล่องตัวและความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน ส่งผลให้เฮลิคอปเตอร์กลายเป็นหนึ่งในยุทโธปกรณ์หลักของกองทัพตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเรื่อยมา สร้างชื่อในสมรภูมิใหญ่ไม่ว่า “เบลล์ ฮิวอี้” ของอเมริกาในสงครามเวียดนาม หรือ “เอ็มไอ ไฮนด์” ของโซเวียตในศึกอัฟกานิสถาน

อย่างไรก็ตาม คอนเซปต์การผลิตอันนี้ ได้มีจุดบอดสำคัญ คือหากใบพัดหางได้รับความเสียหาย หรือหยุดทำงาน จะทำให้ตัวเครื่องหมุนควงสว่านไปตามแรงบิดของเครื่องยนต์หลัก ยากที่จะแก้ไขสถานการณ์ จากปากคำของนักบินกองทัพต่างๆระบุว่า หนทางเอาตัวรอดคือตัดการทำงานเครื่องยนต์ เพื่อให้เครื่องหยุดหมุน จากนั้นจึงใช้ความเร็วที่มีอยู่พยายามร่อนลงจอด แต่ถ้าอยู่ในระดับเพดานบินต่ำ ก็ต้องเลยตามเลย ทำอะไรไม่ได้

แน่นอนว่าหน่วยวิจัยกองทัพทั่วโลกพยายามแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้ต่อเนื่อง เช่น การเสริมความแข็งแกร่งใบพัดหาง อย่างเฮลิคอปเตอร์จู่โจม “อาปาเช่” ของสหรัฐฯที่ส่วนใบพัดสามารถทนทานกระสุนขนาด 23 มม. พร้อมด้วยระบบกระจายแรงกระแทกปกป้องห้องนักบิน ไปจนถึงการออกแบบคอนเซปต์การทำงานใหม่ ไม่จำเป็นต้องมีใบพัดหางอีกต่อไป เปลี่ยนมาใช้ระบบใบพัดหลัก 2 ตัว ทดแทนแรงบิดให้กันและกัน อย่างเฮลิคอปเตอร์จู่โจมฉลามดำ “คามอฟ–50” ของรัสเซีย ที่ประเมินว่า การมีใบพัดหางจะดึงกำลังเครื่องยนต์กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งเมื่อเอาใบพัดหางออกไปจะทำให้ศัตรูยิงโจมตีจากภาคพื้นดินได้ยากยิ่งขึ้น

...

ซึ่งล่าสุดกลาโหมสหรัฐฯเริ่มสนใจระบบใหม่เช่นกัน กำลังประชันออกแบบระหว่างคอนเซปต์ใบพัดหลัก 2 ชั้น ของค่ายซิคอร์สกี เอส–97 “เรเดอร์” กับระบบใบพัด 2 เครื่องยนต์ซ้ายขวาของค่ายเบลล์ วี–280 “แวเลอร์” แต่อุปสรรคสำคัญคือราคาจะกระโดดแพงหูฉี่ ทำให้ไม่ได้รับความสนใจจากเอกชนทั่วไปเท่าไรนัก.

ตุ๊ ปากเกร็ด