หลอนมาก!! วิกฤติค่าเงินตุรกีทุบตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงระเนระนาดไม่เป็นท่า แถมส่อเค้าจะลุกลามใหญ่โตกลายเป็นมหากาพย์ต้มยำกุ้งไครซิสภาคสอง ได้ยินคำว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง นึกถึงพ่อมดการเงินตัวแสบ
“จอร์จ โซรอส” ผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีค่าเงินบาท เมื่อปี 1997 ตัวการทำให้คนไทยเป็นทาสไอเอ็มเอฟอยู่หลายปี
คนไทยทั้งประเทศไม่มีใครลืมชื่อ “จอร์จ โซรอส” แน่ๆ เขาคือผู้ร้ายในโลกการเงิน โดยก่อนจะจุดชนวนให้เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง หมอนี่เคยสร้างชื่อมาแล้วจากการล้มระบบธนาคารกลางอังกฤษ โจมตีค่าเงินปอนด์จนแพ้ราบคาบ ในครั้งนั้นโซรอสทำกำไรได้ถึง 1,000 ล้านปอนด์ จากการลงทุนเม็ดเงิน 6,500 ล้านปอนด์
ปีนี้โซรอสอายุ 88 ปีแล้ว ถอดเขี้ยวเล็บไปตั้งแต่ปี 2000 ยอมยุติอาชีพผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ก่อตั้งขึ้นมาเองกับมือ เพราะไม่อยากเผยข้อมูลการลงทุนแก่สาธารณชน ตามกติกาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์อเมริกา แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ก็เชื่อว่า พ่อมดการเงินมือฉมังยังคงชักใยอยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวทางการเงินหลายๆเหตุการณ์
เอาตัวรอดเก่ง และมองเห็นโอกาสในวิกฤติชัด เพราะชีวิตวัยเด็กของโซรอสโตมาแบบปากกัดตีนถีบแท้ๆ เขาเกิดในครอบครัวฮังกาเรียนเชื้อสายยิว ที่ต้องปกปิดชาติกำเนิดความเป็นยิว บิดาเป็นทนายความและเคยเป็นเชลยศึกในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่หนีจากรัสเซียมาตั้งรกรากในบูดาเปสต์ ชีวิตของเขาต้องระหกระเหินบ่อยครั้งจากภัยสงคราม ครั้งแรกเมื่อฮังการีถูกนาซีเยอรมันเข้ายึดครอง โซรอสเพิ่งอายุ 13 ปี พ่อเขาต้องจ่ายเงินปลอมเอกสารให้ทุกคนเปลี่ยนสัญชาติเป็นคริสเตียน แต่สุดท้ายก็หนีนาซีขอลี้ภัยไปอยู่อังกฤษ
...
โซรอสทำงานทุกอย่างที่ขวางหน้า ตั้งแต่เป็นพนักงานเสิร์ฟ เด็กยกกระเป๋าสถานีรถไฟ ไปจนถึงเป็นติวเตอร์สอนพิเศษ ถึงชีวิตจะลำเข็ญ แต่หนุ่มยิวก็กัดฟันสู้จนเรียนจบปริญญาตรีและปริญญาโทด้านปรัชญา จากลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิกส์ คนเคยถามว่าผู้ลี้ภัยชาวยิวอย่างเขา สร้างเนื้อสร้างตัวจนเป็นนักการเงินชื่อก้องโลกได้ยังไง เขาตอบว่า หลังเรียนจบหางานทำไม่ได้ เลยจำใจต้องเป็นเซลส์แมนเร่ขายสินค้าตกแต่งรีสอร์ตชายทะเล จนวันหนึ่งฉุกคิดว่านี่ไม่ใช่อนาคตที่ต้องการ เขาลุกขึ้นเขียนจดหมายสมัครงานถึงวาณิชธนกิจหลายแห่ง กระทั่งได้เข้าทำงานเป็นเสมียนที่บริษัทซิงเกอร์ แอนด์ ไฟรด์แลนเดอร์ ในกรุงลอนดอน
เมื่อโอกาสเปิดกว้างขึ้น โซรอสได้ย้ายไปทำงานกับโบรกเกอร์ในนิวยอร์ก “เอฟ.เอ็ม. เมเยอร์” โดยเริ่มอาชีพเทรดเดอร์เต็มตัว เน้นเจาะกลุ่มหุ้นยุโรปเป็นหลัก จากนั้นก็ถูกจีบไปเป็นนักวิเคราะห์หุ้นยุโรปที่เวิร์ธไธม์ แอนด์ โค. และอาร์โนลด์ แอนด์ เอส. ไบลช์โรเดอร์ ช่วงนี้เองเขาได้คิดค้นทฤษฎีสำคัญคือ “Reexivity” ต่อยอดมาจากความคิดของ “คาร์ล ป็อบเปอร์” โซรอสไม่เชื่อว่าตลาดต้องมีความสมดุล ที่ท้ายสุดราคาจะกลับมาสะท้อนพื้นฐานของกิจการ แต่เขาเชื่อว่าจุดดุลยภาพมีไว้อ้างอิง และเอาเข้าจริงๆเมื่อมีแรงกระเพื่อมบางอย่างก็จะส่งผลให้ราคาหุ้นวิ่งออกจากจุดดุลยภาพไปมาก ตลาดหุ้นจึงมีแนวโน้มพุ่งขึ้นและดิ่งลงเป็นวัฏจักรไปเรื่อยๆ สิ่งที่ทำให้เขารวยมหาศาลจากการเป็นเจ้าของกองทุนแควนตัมฟันด์ ก็เพราะจับจังหวะเก่ง สามารถเอาชนะกลไกของความโลภและความกลัวในตลาดได้อย่างเหลือเชื่อ เขาคือนักเก็งกำไรตัวพ่อ ที่รู้จักหาโอกาสจากทุกวิกฤติในโลก และถ้าจะกระโจนเข้าไปที่ใด ก็ต้องมั่นใจว่าจะมีแต่ชนะกับชนะ เพราะคนอย่างโซรอสเกลียดความเสี่ยงที่สุด และถือคติว่า อยู่ให้รอดก่อน แล้วค่อยทำกำไร ไม่ว่าจะลงทุนอะไรเขาจึงไม่ยอมสูญเสียเงินต้นเด็ดขาด
เมื่อหลายปีก่อนโซรอสรวยเป็นอันดับที่ 28 ของโลก แต่เขาพิสูจน์ว่า “เงิน” ไม่ใช่สาระสำคัญที่สุดในชีวิต ด้วยการบริจาคเงิน 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้มูลนิธิ Open Society Foundations ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนองค์กรอิสระทั่วโลก ทุกวันนี้เขาเหลือเงินติดบัญชีแค่ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับใช้ยามบั้นปลายชีวิต และกำลังตั้งหน้าตั้งตาทำดีไถ่บาป.
มิสแซฟไฟร์