นักโบราณคดีในอียิปต์ประกาศการค้นพบครั้งล่าสุดที่ทำให้ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 2,500 ปีก่อน ซึ่งเต็มไปด้วยความตื่นตะลึงเมื่อขุดลงไปลึกราว 30 เมตรบริเวณใกล้พีระมิดของฟาโรห์อูนาส (Unas) กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่ 5 ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงไคโร ประเทศอียิปต์
สันนิษฐานว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งผลิตมัมมี่ในช่วงประมาณ 664-404 ปีก่อนคริสตกาล เนื่องจากมีการค้นพบซากมัมมี่ โครงกระดูก พร้อมกับอุปกรณ์และสิ่งประดิษฐ์ต่างๆที่เชื่อว่าจะใช้ในการทำมัมมี่ รวมถึงพบชิ้นส่วน เช่น หน้ากากทาด้วยสีทองสีเงินของโลงมัมมี่ ภาชนะหลากหลายทรง รูปสลักหินโลงมัมมี่ขนาดเล็กมากมายหลายชิ้น ซึ่งอยู่ในสภาพที่ไม่ได้รับความเสียหายมากนัก
นักโบราณคดีเชื่อว่าการค้นพบนี้จะช่วยให้ได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับน้ำมันที่ใช้ในกระบวนการทำมัมมี่สมัยราชวงศ์ที่ 26 อย่างไรก็ตาม วัตถุโบราณหลายชิ้นจะถูกนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แกรนด์ อียิปเชียน (Grand Egyptian Museum) ซึ่งกำลังจะเป็นพิพิธภัณฑ์ทางโบราณคดีที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ยังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง โดยคาดว่าจะเปิดตัวในปลายปีนี้.