องค์การอนามัยโลกสั่งตรวจสอบความเสี่ยง หลังผลการศึกษาใหม่ชี้ว่า น้ำดื่มบรรจุขวดแบรนด์ดังส่วนใหญ่ มีอนุภาคพลาสติกอยู่ภายใน รวมทั้งแบรนด์จากประเทศไทยด้วย...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้มีการทบทวนความเสี่ยงจากอนุภาคพลาสติกในน้ำดื่ม หลังจากผลการวิเคราะห์ชิ้นใหม่พบว่า กว่า 90% ของน้ำดื่มบรรจุขวดชื่อดังของโลก มีอนุภาคพลาสติกขนาดราว 100 ไมครอน (0.1 มิลลิเมตร) หรือเล็กกว่าอยู่ภายในน้ำ ก่อนที่ผลการศึกษาก่อนน่านี้ยังพบอนุภาคพลาสติกในน้ำประปาด้วย

ผลการวิเคราะห์ชิ้นใหม่จัดทำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรัฐนิวยอร์ก เป็นการศึกษาตัวอย่างน้ำดื่มขนาด 1 ลิตร 11 ยี่ห้อจำนวน 259 ขวดจาก 19 สถานที่ใน 9 ประเทศได้แก่ สหรัฐฯ, จีน, บราซิล, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เม็กซิโก, เลบานอน, เคนยา และไทย

ผลการศึกษาพบว่าค่าเฉลี่ยของอนุภาคพลาสติกที่พบคือ 325 หน่วยต่อลิตร แต่ค่าเข้มข้มที่สุดที่พบใน 1 ขวดสูงถึง 10,000 หน่วย และมีเพียง 17 ขวดเท่านั้นที่ไม่พบอนุภาคพลาสติก ขณะที่ชนิดของอนุภาคพลาสติกที่พบมากที่สุดคือ โพลีโพรพีลีน (polypropylene) แบบเดียวกับที่ใช้ผลิตฝาพลาสติก

ทั้งนี้ โฆษกของ WHO บอกกับสำนักข่าว เดอะ การ์เดียน ว่า ถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่มีหลักฐานใดๆ ถึงผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ แต่พวกเขาเข้าใจดีว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวล ซึ่ง WHO จะทบทวนหลักฐานทั้งหมดที่มี และจัดตั้งทีมวิจัยเพื่อประเมินความเสี่ยงทั้งหมด