ป่าเขตร้อนอะเมซอนเป็นพื้นที่กว้างใหญ่และมีสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์อาศัยอยู่ เป็นแหล่งน้ำสำคัญและมีวัฏจักรของสารอาหารระดับโลก เมื่อกว่า 500 ปีที่ผ่านมา ประชากรที่นี่มีวิถีแห่งการอยู่รอดด้วยการหักล้างถางป่าให้เป็นที่ดินทำกิน ทำให้นักวิจัยจากกรมวิทยาศาสตร์โลกและศูนย์วิจัยระบบโลกแห่งมหาวิทยาลัยนิวแฮมป์เชียร์สนใจศึกษาโดยใช้ดาวเทียมเทอร์ราตรวจสอบพื้นที่ในแถบนี้ พบว่ามนุษย์ยังก่อผลกระทบต่อป่าฝนแถบลุ่มน้ำอะเมซอนในทวีปอเมริกาใต้เป็นอย่างมากแม้จะผ่านมาถึง 500 ปีแล้วก็ตาม

หนึ่งในตัวชี้วัดของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์คือบริเวณที่เรียกว่าเทอร์รา เพรตา (terra preta) หรือบริเวณที่มีการทำดินดำ (Amazonian Dark Earths-ADEs) จากฝีมือมนุษย์ ด้วยวัสดุเหลือทิ้ง เช่น เศษเครื่องปั้นดินเผา ถ่าน หิน โลหะ ไม้ กระดูก และวัสดุอินทรีย์ที่สลายตัวได้รวดเร็วในเขตร้อน นักวิจัยใช้ภาพจากดาวเทียมเทอร์ราที่ถ่ายด้วยกล้องโมดิส (MODIS) สร้างแบบจำลองเชิงพื้นที่เพื่อคาดการณ์ความน่าจะเป็นดินดำในพื้นที่ 6 ล้านตารางกิโลเมตรในป่าอะเมซอน ซึ่งผลที่ได้นั้นแสดงให้เห็นว่าคนพื้นเมืองนิยมใช้เทคนิคการตัดและเผาเพื่อล้างป่า

ทีมวิจัยเผยว่าสิ่งที่ยังเป็นความลับที่สำคัญของโลกนี้คือไม่มีใครรู้ว่ามีผู้คนกี่มากน้อยที่อาศัยอยู่ในดินแดนอะเมซอนก่อนที่ชาวยุโรปจะเข้ามาถึง ซึ่งการมาของคนต่างถิ่นทำให้คนพื้นเมืองล้มตายจากโรคภัยไข้เจ็บ กลายเป็นทาสบ้าง ย้ายถิ่นฐานไปก็มี จนยากที่จะกำหนดผลกระทบที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องการทำความเข้าใจความยืดหยุ่นและความเปราะบางของป่าแห่งนี้ ที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามของมนุษย์ในอดีต ซึ่งจะช่วยให้สามารถวางแผนได้อย่างเหมาะสมต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในวันข้างหน้า.