วันนี้ (22 ต.ค.) เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯญี่ปุ่น หลังนายกฯ ชินโสะ อาเบะ ผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ฉวยจังหวะที่พรรคฝ่ายค้านปั่นป่วนอ่อนแอ ชิงจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด
โพลชี้ว่าแอลดีพีจะชนะขาด ได้ ส.ส.ถึง 280 ที่นั่ง จากทั้งหมด 465 ที่นั่ง และพรรค “โคเมโตะ” พันธมิตรร่วมรัฐบาลผสมกับแอลดีพีจะได้ราว 30 ที่นั่ง เมื่อรวมกันจะครองเสียงข้างมากท่วมท้นถึง 2 ใน 3 ของสภา
ส่วน “พรรคแห่งความหวัง” ซึ่งนางยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าการกรุงโตเกียวคนดังวัย 65 ปี ตั้งขึ้นเดือนที่แล้วและมาแรงสุดๆกลับแผ่วลง หลังจากเธอเองที่เป็น “จุดขาย” ถูกเล็งว่าจะเป็นนายกฯหญิงคนแรกไม่ยอมลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้พรรคประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น (ซีดีพีเจ) ซึ่งกลุ่ม ส.ส.สายเสรีในพรรคประชาธิปไตย (ดีพี) ฝ่ายค้านเดิมแยกตัวออกมาตั้งขึ้น อาจได้ที่นั่งมากกว่า ได้เป็นฝ่ายค้านหลักในสภาแทน
...
ถ้าไม่พลิกล็อก อาเบะจะได้กุมอำนาจต่อสมัยที่ 4 แต่มีภาระหนักอึ้ง เพราะญี่ปุ่นซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลกเต็มไปด้วยปัญหาท้าทาย ซึ่งแม้แต่อาเบะที่ว่าเก่งและสู้มานานก็ยังแก้ไม่ตก
ปัญหาร้อนที่สุดหนีไม่พ้น “เกาหลีเหนือ” ซึ่งอันตรายขึ้นทุกวัน หลังเพิ่งทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่ 6 และทดลองขีปนาวุธหลายครั้ง รวมทั้งยิงขีปนาวุธข้ามเกาะฮอกไกโดของญี่ปุ่นถึง 2 ครั้งหลัง ยังขู่จะโจมตีญี่ปุ่นให้จมทะเล การยิงขีปนาวุธทั้ง 2 ครั้ง ทำให้มีคำสั่งอพยพฉุกเฉิน แต่คนญี่ปุ่นไม่ตื่นกลัวอะไรนัก
หลายปีหลังอาเบะสั่ง “อัพเกรด” กองทัพอย่างต่อเนื่อง อ้างว่าเพื่อรับมือภัยคุกคามเกาหลีเหนือ แต่มีผู้ชี้ว่าเขากำลังรื้อฟื้นลัทธินิยมการทหารขึ้นมาใหม่ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญใฝ่สันติหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นยังมีปัญหาคาใจกับเกาหลีเหนือไม่จบ หลังโสมแดงยอมรับว่าลักพาตัวชาวญี่ปุ่นไป 13 คน ในทศวรรษ 1970 เพื่อช่วยฝึกสายลับของตน แต่เชื่อว่าเกาหลีเหนือลักพาตัวคนญี่ปุ่นไปมากกว่านี้ หลายคนยังมีชีวิตอยู่แต่ถูกปิดเป็นความลับ
ส่วนเกาหลีเหนือก็ยังคุมแค้นญี่ปุ่นไม่หาย หาว่าญี่ปุ่นยังไม่สำนึกผิดที่บุกยึดคาบสมุทรเกาหลี เข่นฆ่าก่อกรรมทำเข็ญกับชาวเกาหลีหลายล้านคนในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
ส่วน “ปัญหาภายใน” ของญี่ปุ่นยิ่งน่าเป็นห่วง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาประชากรสูงอายุ ปัญหาเศรษฐกิจ หนี้สิน และการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมธุรกิจที่เป็นเสาหลักของประเทศ
ปัญหาเรื่องประชากรเป็น “ระเบิดเวลา” ลูกมหึมาที่จะส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมญี่ปุ่นมหาศาลในอนาคตอันใกล้ โดยญี่ปุ่นกำลังจะเป็นชาติที่มี “คนแก่มากที่สุด” ชาติแรกของโลก นั่นคือกว่า 28% ของประชากรจะมีอายุมากกว่า 65 ปีในไม่ช้านี้
อัตราการเกิดที่ต่ำมากบวกกับประชากรชราที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนวัยทำงานที่ลดน้อยลงทุกวันต้องแบกรับภาระด้านสวัสดิการสังคมจนหลังแอ่น และแม้ญี่ปุ่นจะขาดแคลนแรงงานแต่ค่าจ้างกลับเพิ่มขึ้นน้อยมาก การบริโภคภายในจึงต่ำตาม ส่วนคนหนุ่มสาวก็ไม่ยอมแต่งงานสร้างครอบครัว ซ้ำเติมปัญหาประชากรมากยิ่งขึ้น แม้รัฐบาลทำทุกวิถีทางกระตุ้นให้คนมีครอบครัวและมีลูก รวมทั้งขอให้บริษัทเพิ่มค่าจ้าง ขณะที่ชาวชนบทก็อพยพเข้าสู่เมืองใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ จนคาดว่าสังคมชนบทจะหดหายไป และในเมืองจะเต็มล้นไปด้วยคนชรา
นอกจากนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ชะงักงันมายาวนาน แม้ปีหลังๆโตขึ้นบ้างเฉลี่ยปีละ 1.3% เทียบกับ 0.9% สมัยอาเบะขึ้นกุมอำนาจใหม่ๆ แต่ก็ต่ำมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งในเอเชียอย่าง “จีน” และ “อินเดีย” จนอาเบะต้องใช้นโยบาย “อาเบะโนมิกส์” อัดฉีดค่าใช้จ่ายภาครัฐขนานใหญ่ควบคู่กับให้ธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายที่สุด แต่ก็ไม่ค่อยได้ผล แม้ทำให้บริษัทใหญ่มีกำไรเพิ่มขึ้น ตลาดหุ้นบูมขึ้น แต่แก้ปัญหา “เงินฝืด” เรื้อรังไม่ได้
ญี่ปุ่นยังมีหนี้ภาครัฐมากกว่าชาติอุตสาหกรรมใดๆในโลก สูงกว่ามูลค่าเศรษฐกิจของประเทศกว่า 2 เท่าตัว ซึ่งถ้าไม่ลดหนี้ลงจะเจอปัญหาดอกเบี้ยเงินกู้สูงลิบและอาจถึงขั้นผิดนัดชำระหนี้ได้ แต่อาเบะก็ยังก่อหนี้เพิ่มเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ แถมเลื่อนการขึ้นภาษีบริโภคครั้งที่ 2 แม้จำเป็นต้องทำเพื่อลดหนี้ภาครัฐ
...
ญี่ปุ่นยังพยายามวิ่งไล่กวดกระแส “โลกาภิวัตน์” โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เคยเป็นเสาหลักเศรษฐกิจของชาติมายาวนาน แต่ยุคนี้ล้าหลังคู่แข่งต่างชาติในด้าน “นวัตกรรม” ทั้งที่เคยเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมของโลก ซ้ำร้ายบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น โตชิบา, นิสสัน, โกเบ สตีล ยังมีเรื่องอื้อฉาว ทั้งละเมิดกฎธรรมาภิบาล ปกปิดภาวะขาดทุน ปลอมข้อมูลคุณภาพสินค้า บริษัทญี่ปุ่นยังมีผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้หญิงน้อยมาก ขณะที่การสร้างความกลมกลืนระหว่างพนักงานหนุ่มสาวกับผู้สูงอายุก็มีปัญหา
แม้อาเบะพยายามลดกฎเกณฑ์ภาครัฐและกระตุ้นนวัตกรรมใหม่ๆ แต่การปฏิรูปยังช้ามาก ส่วนแนวคิดให้เอาคนต่างชาติเข้าไปชดเชยแรงงานที่ขาดแคลนและผ่อนคลายปัญหาประชากรสูงวัยก็ถกเถียงกันไม่จบ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
ถ้าอาเบะได้เป็นผู้นำอีกสมัย อาจไม่ใช่เพราะประชาชนชื่นชอบ แต่อาจไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า หรือไม่อยากเสี่ยง “เปลี่ยนแม่ทัพกลางศึก” จึงให้โอกาสรัฐบาล “รีเซต” ตัวเองใหม่เพื่อสู้ปัญหาที่รุมเร้า!
บวร โทศรีแก้ว