เมื่อไม่นานมานี้ มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทำการศึกษาพฤติกรรมการนอนหลับของเด็กอายุตั้งแต่ 2–6 ขวบ ที่มีน้ำหนักปกติจำนวน 368 ราย พบว่าหากไม่ได้ รับการนอนหลับอย่างเพียงพอ อาจมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักเกินหรือกลายเป็นโรคอ้วนได้ โดยมักจะมาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ
นักวิจัยได้วิเคราะห์จากสมุดบันทึกที่ครอบครัวได้บันทึกพฤติกรรมระหว่างการนอนหลับของลูกหลานในบ้านเป็นเวลา 7 วัน การศึกษาพบว่าเด็กที่มี ความแปรปรวนในการนอนหลับจะเป็นเด็กที่นอนน้อยกว่า 10 ชั่วโมง ในเวลากลางคืน ซึ่งมีแนวโน้มที่น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นในช่วง 1 ปี 3 เดือน และเด็กที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นก็จะมีแนวโน้มกินอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากขึ้นด้วย แต่จะบริโภคผักผลไม้ลดลง อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวมีข้อ จำกัดคือ นักวิจัยได้อาศัยบันทึกจากพ่อแม่ของเด็ก ซึ่งจะต้องจดจำและรายงานการนอนหลับของเด็กได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งยังมีปัจจัยที่วัดไม่ได้หรือวัดไม่ได้ผลดีพอ นั่นคือสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ ลักษณะครอบครัว การออกกำลังกายมากหรือ น้อย หรือการรับประทานอาหารที่ดีหรือไม่มีประโยชน์ ซึ่งอาจส่งผลต่อการนอนหลับและน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกาเผยว่า เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ขวบ ควรงีบและนอนหลับราวๆ 11-14 ชั่วโมง ภายในเวลา 24 ชั่วโมง ส่วนเด็กที่อายุ 3- 5 ขวบ ควรงีบและนอนหลับประมาณ 10-13 ชั่วโมง สำหรับเด็กอายุ 6 ขวบ แพทย์แนะนำว่าให้นอน 9-12 ชั่วโมง และผู้ปกครองต้องช่วยให้เด็กๆ นอนหลับได้ดีขึ้น โดยบังคับใช้ตารางการนอนหลับปกติในทุกๆวัน รวมถึงเก็บบรรดา อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกจากห้องนอนของเด็ก.