ภาพจากแฟ้ม
ราชทัณฑ์ปล่อยตัว "ราเกซ สักเสนา" พ่อมดการเงิน คดียักยอกทรัพย์บีบีซี ติดคุก 15 ปี เนื่องจากได้รับพระราชทานอภัยโทษ พร้อมผลักดันออกนอกประเทศ
จากกรณี นายราเกซ สักเสนา สัญชาติอินเดีย ผู้ต้องขังคดีหมายเลขแดงที่ อ 4138/2559 ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คดียักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือ บีบีซี ระหว่างปี 2537-2539 ขณะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ โดย นายราเกซ หลบหนีคดีไปยังประเทศแคนาดา และถูกจับกุมเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2539 แม้ทางการไทยได้ประสานงานกับแคนาดาขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน แต่นายราเกซได้ให้ทนายความยื่นคัดค้าน ใช้ระยะเวลาพิจารณาถึง 13 ปี กระทั่งวันที่ 29 ต.ค. 2552 ศาลฎีกาแคนาดามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา และส่งตัวมาถึงประเทศไทยด้วยเที่ยวบิน TG 615 เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2552
ต่อมา ศาลฎีกามีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 จำคุก 335 ปี และปรับ 33,500,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุก 20 ปี ตามกฎหมายลงโทษจริง และสั่งคืนเงินผู้เสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท
ล่าสุด นายราเกซ ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และได้รับการปล่อยตัว เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ทาง กก. 5 บก.ปอศ. จึงนำตัว นายราเกซ มาส่งยัง กก.3 บก.สส.สตม. เพื่อดำเนินการผลักดันออกนอกประเทศตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ต่อไป
ทั้งนี้ วันที่ 10 ก.ย. 67 แหล่งข่าวภายในกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า กรณีของนายราเกซ สักเสนา สัญชาติอินเดีย ผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือ บีบีซี ระหว่างปี 2537-2539 ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และได้รับการปล่อยตัว เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ยืนยันเป็นเรื่องจริง ตำรวจ บก.ปอศ. มารับตัว นายราเกซ ไปส่งยัง กก.3 บก.สส.สตม. เพื่อดำเนินการผลักดันออกนอกประเทศตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
...
สำหรับนายราเกซ ถูกส่งตัวมารับโทษในประเทศไทยเมื่อเดือน ต.ค. 2552 ช่วงแรกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นคดีอยู่ระหว่างพิจารณา และเมื่อคดีถึงที่สุด นายราเกซ จึงย้ายมาเรือนจำคลองเปรม ตามอัตราโทษที่ได้รับ กระทั่งเจ้าตัวมีอาการป่วยด้วยโรคชรา เพราะปัจจุบัน อายุ 72 ปีแล้ว ก็มารักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จนกระทั่งได้รับพระราชทานอภัยโทษ
แหล่งข่าวกรมราชทัณฑ์ ยังชี้แจงว่า ส่วน นายราเกซ ถูกตำรวจแคนาดาจับกุมและคุมขังที่เรือนจำในประเทศแคนาดา เมื่อปี 2539 แต่นายราเกซได้ให้ทนายความยื่นคัดค้าน ใช้ระยะเวลาพิจารณาถึง 13 ปี กระทั่งเดือน ต.ค. 2552 ศาลฎีกาแคนาดามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา และส่งตัวมาถึงประเทศไทยนั้น ราชทัณฑ์ไม่ได้นับจำนวนการจำคุกที่นั่น แต่มาเริ่มนับโทษหลังมาอยู่ในเรือนจำที่ประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2552 รวมแล้วประมาณ 15 ปี.