ศาลจังหวัดนราธิวาสรับฟ้องคดีสังหารหมู่เหยื่อตากใบ มีจำเลยรวม 7 คนในข้อหาฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว หลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสลายม็อบนำไปสู่ความสูญเสีย 85 ศพ คดียืดเยื้อมากว่า 19 ปี ใกล้หมดอายุความในเดือน ต.ค.นี้ ศาลนัดสอบคำให้การวันที่ 12 ก.ย. เวลา 09.00 น. ขณะที่ญาติผู้ตายเผยอยากเรียกร้องหาความยุติธรรม

ศาลรับฟ้องคดีตากใบมีจำเลย 7 คน เปิดเผยเมื่อช่วงสายวันที่ 23 ส.ค. ศาลจังหวัดนราธิวาส ประทับรับฟ้องคดีอาญาตากใบจำเลยรวม 7 คน ในข้อหาฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว ครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 48 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 การเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมขึ้นรถทหารไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ในลักษณะให้นอนซ้อนกันทำให้มีผู้เสียชีวิต 78 ราย จากการขาดอากาศหายใจ ศาลเห็นว่าคดีมีมูลตามที่โจทก์ยื่นพยานหลักฐานมีเหตุการณ์สลายการชุมนุม และการเคลื่อนย้ายเกิดขึ้นจริง ศาลนัดสอบคำให้การในวันที่ 12 ก.ย.67 เวลา 09.00 น. แต่ยังไม่มีการออกหมายจับ จะมีหมายเรียกให้มาศาลตามนัดหมาย

จำเลย 7 คน ที่ศาลรับฟ้องประกอบด้วย จำเลยที่ 1 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันอายุ 74 ปี เป็น สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย จำเลยที่ 3 พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีตผู้บัญชาการพล.ร.5 ปัจจุบันอายุ 76 ปี จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ปัจจุบันอายุ 73 ปี จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 ปัจจุบันอายุ 77 ปี จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีต ผกก.สภ.ตากใบ

ปัจจุบันอายุ 70 ปี จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันอายุ 78 ปี และจำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ อดีต ผวจ.นราธิวาส ปัจจุบันอายุ 78 ปี จำเลยทั้ง 7 คนถือเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์

...

ส่วนจำเลยที่ 2 พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีตรองแม่ทัพ ภ.4 และจำเลยที่ 7 พ.ต.อ.ภักดี ปรีชาชน อดีตรอง ผกก.สภ.ตากใบ ยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลถือว่าไปปฏิบัติหน้าที่บริเวณอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะจำเลยที่ 7 ยังติดต่อให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวชั่วคราว อาสาชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่ถูกจับ และเป็นปมเหตุที่เกิดการจลาจล ครั้งนั้นศาลไม่รับฟ้อง

ขณะที่ญาติผู้เสียชีวิตที่มารอการพิจารณาที่ศาลเปิดเผยว่า ปมเหตุที่ตัดสินใจฟ้องเพราะต้องการอยากรู้ว่าประเทศไทยมีความยุติธรรมหรือไม่ ไม่ใช่ว่าจะเอาผิด แต่ต้องการให้จำเลยยอมรับว่าสิ่งที่ทำลงไปมันผิดจริง อยากให้จำเลยทั้ง 7 คน มาแสดงความบริสุทธิ์ในวันที่ 12 ก.ย.นี้

เหตุการณ์ตายหมู่ที่เกิดขึ้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 เริ่มต้นจากการชุมนุมที่บริเวณหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวน 6 คนที่ถูกจับกุม จากนั้นมีชาวบ้านในพื้นที่มามุงดูนับพันคน ทหารต้องปิดล้อมพื้นที่และสลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ชุมนุม 7 คน จับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 1,370 คน แล้วขนย้ายจาก สภ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารที่อยู่ไกลออกไป 150 กม.ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการขนส่ง 78 คน รวมเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งหมด 85 คน หลังเหตุการณ์ผ่านไปศาลสรุปไต่สวนว่าผู้ชุมนุมทั้ง 78 คน ที่เสียชีวิตระหว่างขนย้ายขาดอากาศหายใจ คดีจบลงด้วยการประนีประนอมยอมความ กระทรวงกลาโหมต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนรวม 42 ล้านบาทให้กับญาติผู้เสียหาย ต่อมาจ่ายเงินเยียวยาผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกรายละ 7.5 ล้านบาท และผู้บาดเจ็บรายละ 5 แสนบาท คดีผ่านกว่า 19 ปี 10 เดือน ใกล้หมดอายุความในเดือน ต.ค.นี้

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่