อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เผยคดี STARK ผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิ์ขอคืนเงินผ่านทาง ปปง. ได้ภายใน 90 วัน ตามอัตราส่วนของความเสียหายที่แต่ละคนได้รับ เพราะค่าเสียหายที่ถูกฉ้อโกง 14,000 ล้านบาท แต่ทรัพย์สินที่อายัดชั่วคราวได้ 3,000 กว่าล้านบาท และศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 10 มิ.ย.นี้


เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 67 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารรัชดา นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ แถลงถึงความคืบหน้าคดีโกงหุ้นสตาร์ค 14,000 ล้านบาท ว่า ในสำนวนคดีการตรวจสอบและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินเพิ่มเติม ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ดำเนินคดีนายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร STARK กับพวก ข้อหาคดีฉ้อโกงประชาชนหุ้น Stark นั้น ทางสำนักงาน ปปง. ได้เคยส่งสำนวนคดีหุ้นสตาร์ค มาให้กับทางสำนักงานอัยการคดีพิเศษเพื่อขอให้ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งริบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินจำนวน 16 รายการ มูลค่า 355 ล้านบาท ในความผิดที่เป็นมูลฐานเกี่ยวกับคดีที่เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การยักยอกหรือฉ้อโกง หรือการกระทำโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และการยักยอกทรัพย์อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ โดยพฤติกรรมเกี่ยวกับการแต่งบัญชีหรืองบการเงินอันเป็นเท็จ ให้มีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริงเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งประชาชนหลงเชื่อเข้ามาลงทุน ในเบื้องต้นได้รับค่าตอบแทนสูงตามที่โฆษณาชวนเชื่อจริง แต่พอมีผู้ลงทุนเข้ามามากก็ไม่สามารถที่จะได้รับค่าตอบแทนอย่างที่กล่าวอ้างได้ เนื่องจากไม่มีผลกำไรอย่างที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้ชวน ซึ่งในคดีที่ได้ส่งมาในครั้งแรก ทางพนักงานอัยการเราได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในมูลฐานดังกล่าวตกเป็นของเเผ่นดินไป แล้วคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลแพ่งตามคดีหมายเลขตามที่ ฟ.14/2567 

...


ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่ขอยึดอายัดไว้ชั่วคราว และขอให้ริบตกเป็นของแผ่นดินในครั้งนั้น มีจำนวน 16 รายการ มูลค่า 355 ล้านบาท ซึ่งพนักงานอัยการคดีพิเศษ โดยตนในฐานะอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการ และให้คณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาและดำเนินคดีในชั้นศาล


จนล่าสุดวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา ทางสำนักงาน ปปง. ก็ได้ส่งเอกสารพยานหลักฐานต่างๆ ในคดีเดียวกันเพิ่มเติมเข้ามาให้กับทางสำนักงานคดีพิเศษของเรา เนื่องจากว่าสามารถตรวจสอบพบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดในมูลฐานเดียวกันในพฤติการณ์เดียวกันเพิ่มเติมขึ้นมาได้อีก และก็คณะกรรมการธุรกรรมของทางสำนักงาน ปปง. ก็มีการสั่งให้ยึดอายัดไว้ชั่วคราวเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 รวมจำนวนทั้งหมด 14 รายการ เป็นเงิน 2,890 ล้านบาท เมื่อรวมทรัพย์สินในคดีเดิมและที่ส่งมาเพิ่มเติมแล้วทั้งสิ้น เป็นเงิน 3,245 ล้านบาท เเต่ในความเป็นจริงค่าเสียหายที่ผู้เสียหายถูกฉ้อโกงจากความผิดมูลฐานดังกล่าว เป็นจำนวนกว่า 14,000 ล้านบาท 


ตนในฐานะอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ จึงได้มีคำสั่งให้ส่งเรื่องเพิ่มเติมพร้อมเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้กับคณะกรรมการคณะทำงานชุดเดิม เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ไว้ชั่วคราวตกเป็นของแผ่นดินภายในระยะเวลา 90 วัน นับตั้งแต่ที่มีคำสั่งหยุดอายัดไว้ชั่วคราวตามกฎหมาย ซึ่งพนักงานอัยการคดีพิเศษเราจะต้องพิจารณาและยื่นคำร้องให้ทันภายในวันที่ 12 พ.ค. 2567 นี้


ส่วนจะเป็นนิมิตหมายที่ดีของผู้เสียหายที่มีโอกาสได้ทรัพย์สินคืนหรือไม่นั้น  เรียนว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นมาให้ผู้เสียหายใช้สิทธิ์ขอคืนจำนวนเงินความเสียหายที่ตนได้รับผ่านทางสำนักงาน ปปง. ได้ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันประกาศราชกิจจานุเบกษาหลังจากที่มีการยึดอายัดทรัพย์ไว้ชั่วคราว ซึ่งทางสำนักงาน ปปง. ก็จะพิจารณาว่าผู้เสียหายได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเท่าไร และขอให้ทางพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษของเรายื่นคืนให้กับผู้เสียหายตามอัตราส่วนที่ผู้เสียหายแต่ละคนจะได้รับตามจำนวนความเสียหายของตน ซึ่งในช่องทางนี้จะต้องยื่นภายใน 90 วันตามที่บอก


ผู้สื่อข่าวถามว่า คดีมีเอกสารมาก หากยื่นไม่ทันจะทำอย่างไร นายวิรุฬห์ กล่าวว่า แต่ถ้าพ้นระยะยื่นไม่ทันที่สำนักงาน ปปง. ผู้เสียหายก็สามารถยื่นผ่านทางศาลได้โดยตรง ผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถยื่นขอศาลเมื่อศาลมีคำสั่งอย่างไรแล้ว ถ้าหากศาลมีคำสั่งให้มีการคืนให้กับผู้เสียหายรายใดเป็นจำนวนเท่าไร หลังจากนั้นเมื่อคดีเสร็จสิ้น ทางสำนักงาน ปปง. ก็จะคืนให้ตามอัตราส่วนของความเสียหายที่แต่ละคนได้รับ หลังจากคดีถึงที่สุดแล้วก็จะได้รับคืนค่าเสียหาย


ในกรณีที่ยึดอายัดทรัพย์สินได้ไม่เต็มจำนวนของความเสียหายก็ต้องเฉลี่ยกันไปตามอัตรา ซึ่งทางพนักงานอัยการก็ได้ตระหนักในสิ่งเหล่านี้ที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องต่อศาล ไม่ว่าจะขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน หรือให้คืนให้กับผู้เสียหายตามที่ได้ขอคุ้มครองสิทธิ์ผ่านทางสำนักงาน ปปง. โดยรวดเร็ว


สำหรับคดีนี้ เนื่องจากค่าเสียหายที่ถูกฉ้อโกง หรือกระทำความผิดมูลฐานดังกล่าวมีจำนวนประมาณ 14,000 ล้านบาท แต่ทรัพย์สินที่อายัดชั่วคราวได้จากผู้ถูกกล่าวหาที่ทำความผิดมูลฐานมีจำนวนทั้งสิ้นในสองคดีของ ปปง. และอัยการ มีจำนวน 3,000 กว่าล้านบาท ยังขาดอยู่อีก 10,000 ล้านบาทเศษ ถ้าสมมติว่าทางสำนักงาน ปปง. ตรวจสอบพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติมอีก ก็จะสามารถที่จะดำเนินการเช่นเดียวกับในครั้งล่าสุดที่ส่งเอกสารเพิ่มเติมมา เพื่อขอให้ทางอัยการสำนักงานคดีพิเศษยื่นคำร้องต่อศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้อีก


ในส่วนคดีอาญาหุ้น Stark ตอนนี้พนักงานอัยการคดีพิเศษยื่นคำฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยต่อศาลไปแล้ว โดยมีนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 10 มิ.ย. 67 หลังจากนั้นทางศาลและคู่ความก็จะนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อไป ซึ่งทั้งในคดีอาญาและคดีฟอกเงินที่เกี่ยวกับการริบทรัพย์ หรือขอคืนให้กับผู้เสียหายมันก็จะแยกพิจารณาออกจากกันในแต่ละส่วนในคดีของอาญาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน.

...