ทนายเเอม ไซยาไนด์ ยื่นร้องเอาผิด บิ๊กโจ๊กกับพวก ผิด พ.ร.บ.อุ้มหายฯ 7 ประเด็นคุมตัวเเอม มาไว้สโมสรตำรวจไม่ยอมส่งกองปราบ-เข้าไปกดดันในคุก "อัยการวัชรินทร์" รับสำนวนสั่งสอบข้อเท็จจริง เผยโทษหนักจำคุก 5-15 ปี
วันที่ 26 เม.ย. ที่สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารถนนบรมราชชนนี นางสาวธันย์นิชา เอกสุวรรณรัตน์ ทนายความของ นางสาวสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ แอม ไซยาไนด์ เดินทางมายื่นหนังสือ ต่อ นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน เเละนายปรัชญา ทัพทอง อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 5 ให้ตรวจสอบดำเนินคดี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร.พร้อมพวกจับกุม นางสาวสรารัตน์ ได้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เมื่อครั้งเข้าดำเนินการจับกุมนางสาวสรารัตน์
นางสาวธันย์นิชา กล่าวว่า วันนี้เดินทางมาร้องเรียน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เเละชุดจับกุมให้คณะกรรมการป้องกันการอุ้มทรมานฯ ได้พิจารณา โดยทำมา 7 ประเด็น ซึ่งอาจจะมีคนเข้าข่ายกระทำผิดเป็นร้อยคน แต่มุ่งให้ตรวจสอบชุดจับกุมก่อน เนื่องจากกฎหมายเขียนไว้ว่าเวลามาจับกุมต้องจะต้องมีวิธีการบันทึกวิดีโอบันทึกภาพในลักษณะที่ต่อเนื่องจนกว่าจะถึงมือของพนักงานสอบสวน แต่วันดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามีการพาตัวผู้ต้องหาไปที่สโมสรตำรวจไม่ได้พาไปที่กองบังคับการกองปราบปรามเลย เเละที่น่าสังเกตคือจับกุมตัวกี่โมงและกว่าจะนำไปถึงกี่โมงและกว่าจะได้ส่งตัวให้กับพนักงานสอบสวนเวลาใดกี่โมง มีช่วงเวลาที่หายตัวไปแล้ว พาไปไหน พาไปสโมสรตำรวจ พาไปสนามฟุตบอลอยากถามว่าพาไปทำอะไร เพราะตามหลักการควรที่จะพาตัวผู้ต้องหาไปส่งให้กับทางพนักงานสอบสวนเลยโดยเร็วที่สุดและที่สำคัญควรจะต้องมีการบันทึกวิดีโอเอาไว้อย่างต่อเนื่อง
...
“โดยวันเกิดเหตุที่ถูกจับกุมคือ 26 เม.ย.นี้ก็ครบ 1 ปี ต้องเรียนว่าพนักงานสอบสวนจะประจำอยู่ที่กองปราบฯ แต่ตอนจับกลับพาไปที่สโมสรตำรวจ ซึ่งอยากถามว่ามันใช่ที่ทำการของพนักงานสอบสวนหรือไม่ เเละพอนำตัวไปที่สโมสรตำรวจก็ไม่ได้มีการสอบสวนอะไรเพิ่มเติมใดๆ ด้วย เพราะว่าทนายก็ได้ไปตรวจสอบกล้องวงจรปิดเเละภาพข่าวย้อนหลังว่ามีการสอบปากคำหรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้มีอะไรเลยไปนั่งเฉยๆ เหมือนมีการพาไปแห่นางแมว พาไปเจอนักข่าว พาไปนั่งกับตำรวจในทางปฏิบัติก็ควรจะส่งตรงไปที่กองปราบเลย”
ทนายพัช กล่าวอีกว่า ยังมีกรณีที่พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กับพวก ประกอบด้วย พล.ต.ต.นำเกียรติ ธีระโรจน์พงษ์ พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิศมัย มีการเข้าไปในเรือนจำลักษณะบังคับให้นางสาวสรารัตน์ รับสารภาพใช่หรือไม่ โดยเข้าไปจำนวนหลายครั้งไปวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ไปวันหยุดพิเศษจนกระทั่งไปนอกเวลาทำการ ทั้งที่นางสาวสรารัตน์ กำลังตั้งครรภ์อยู่จนภายหลังเเท้งลูก ที่ตนเพิ่งมาร้อง ความจริงเเล้วตนร่างคำร้องเอาไว้นานเเล้วจนมาโดนฟ้องด้วย เมื่อได้อ่านฟ้องก็ทราบว่าทำไมถึงโดนฟ้อง ก็เพราะไปรู้ความลับคดีไม่ใช่มาฟ้องเพราะ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ขาลงเเต่เพราะเราได้รวบรวมพยานหลักฐานเเละครบกำหนด 1 ปีที่โดนคุมตัวไม่ได้เป็นการดิสเครดิตถ้าทำผิดก็ต้องรับโทษไป
ด้านนายวัชรินทร์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน กล่าวว่า ทางเราซึ่งถือว่าเป็นศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและสูญหาย เรื่องนี้เท่าที่ทราบคือเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ทางเราก็จะรับเรื่องเพื่อที่จะตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงต่อไปว่าพยานหลักฐานจะเข้าข้อกฎหมายใด โดยมอบให้นายปรัชญา อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 5 เป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้ เพราะเราต้องไปพิจารณาดูในสิ่งที่ทนายความนำเอกสารหลักฐานมายื่นให้ ซึ่งมันจะเข้า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ มาตรา 5, 6, 7 ที่จะเป็นความผิดตามกฎหมายนี้ได้ ส่วน ม.42 ที่นางสาวธันย์นิชา กล่าวเมื่อสักครู่เป็นเรื่องผู้บังคับบัญชาซึ่งเราก็ต้องดูว่ามีการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับหลักกฎหมายดังกล่าวหรือไม่อย่างไร ก็ขึ้นกับนางสาวธันย์นิชาว่าวันนี้พร้อมที่จะให้การหรือไม่ ถ้าพร้อมเราก็จะเชิญเข้าไปในห้องเพื่อบันทึกปากคำได้เลย เพราะศูนย์ฯ นี้จะทำแบบรวดเร็ว ฝากไปถึงชาวบ้านใครมาร้องเรียนในเรื่องที่ญาติตัวเองถูกเจ้าหน้าที่รัฐทำการข่มขู่หรือซ้อมให้รับสารภาพในการจับกุมหรือแม้กระทั่งการควบคุมตัวโดยไม่รู้ว่าญาติพี่น้องตัวเองไปไหนอย่างไรศูนย์นี้เปิดรับตลอดถ้าเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ มีที่นี่ที่เดียว ถ้าถูกจับกุมควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยไหนก็ตาม ถ้าใน กทม.ก็ต้องแจ้งมาที่ศูนย์นี้เลย หลังจากสอบพยานหลักฐานก็อาจจะสอบทางทนายความก่อน
เมื่อถามว่า นางสาวธันย์นิชา ทนายความมีสิทธิยื่นเรื่องหรือไม่ นายวัชรินทร์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ขยายความไปมาก ไม่ว่าจะเป็นใครก็ยื่นได้หมดรวมกระทั่งนักข่าวประชาชนคนทั่วไป ถ้าทราบว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้สามารถยื่นได้หมด และการยื่นดังกล่าวหากเป็นการยื่นโดยสุจริตเชื่อว่ามีการกระทำจริงแต่มาตรวจพบว่าไม่มีการกระทำคนที่ยื่นก็ไม่มีความผิด ส่วนจะต้องเรียกพล.ต.อ.สุรเชษฐ์มาหรือไม่ ขั้นตอนจะต้องตั้งเป็นคดีก่อน เบื้องต้นเราจะประเมินว่าข้อมูลพยานหลักฐานพอหรือไม่ ก่อนจะนำเสนออธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ถ้าอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนพิจารณาเเล้วเห็นว่ามีมูลจริงมีการกระทำผิด ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้จริงเราก็จะตั้งคณะทำงานขึ้นมา ซึ่งช่องทางในการสอบสวนตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้มี 4 ช่องทางคือ 1. มาร้องอัยการโดยตรง 2. ร้องทางตำรวจ 3. ร้องกรมสอบสวนคดีพิเศษ เเละช่องทาง 4. กรมการปกครอง เเต่ถ้าไปร้องหน่วยอื่นที่ไม่ใช่อัยการ กฎหมายฉบับนี้บอกชัดเจนว่าต้องเชิญอัยการเข้าไปตรวจสอบกำกับการสอบสวน เเต่ถ้ามาร้องอัยการโดยตรงอัยการก็จะเข้าไปสอบสวนเองเพราะอัยการมีอำนาจสอบสวน
ส่วนที่ถามกรณีตามมาตรา 42 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้าไปในเรือนจำอาจจะโดนในฐานะผู้บังคับบัญชาที่ต้องโทษกึ่งหนึ่งหรือไม่ ตนไม่ขอยกตัวอย่างเคสนี้เพราะไม่ได้ดูในเนื้อหา เเต่ตนยกเรื่องทั่วไปถ้า เป็นผู้บังคับบัญชา แล้วร่วมกันทำการกับลูกน้องโดยร่วมกันทรมานหรือขู่บังคับก็จะผิดตามมาตรา 5, 6, 7 ซึ่งมาตรา 7 ก็บัญญัติไว้ว่าจับเเล้วไม่ส่งพนักงานสอบสวนนำไปเซฟเฮาส์ ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดตามมาตรา 5, 6, 7 ด้วย จะต่างกับมาตรา 42 ที่ผู้บังคับบัญชาไม่ได้ไปทำเเต่รู้ว่าลูกน้องทำอยู่เเล้วไม่ห้ามปรามหรือสอบสวนอันนี้ถึงจะโดนตามมาตรา 42 ที่มีโทษเเค่กึ่งหนึ่ง
...
นายวัชรินทร์ยังได้เปิดเผยถึงโทษว่า มาตรา 5 มีโทษจำคุกตั้งเเต่ 5-15 ปี มาตรา 6 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี มาตรา 7 ที่ไม่พาไปพบพนักงานสอบสวนจำคุก 5-15 ปี ซึ่งเคสนี้ไม่ใช่เคสเเรก ที่ดังๆ ที่ผ่านมาก็มีคดีเป้รักผู้การเเละคดีลุงเปี๊ยก