ดัชนีอาชญากรรมไทยติดอันดับ 44 โลก ปัญหาเรื้อรังจากการค้ามนุษย์ อาวุธ สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ฯลฯ ท้าทายความร่วมมือกับชาติอาเซียน จัดการปิดช่องโหว่ ดันไทยเป็น "ฮับ" ตามเป้าหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีอาชญากรรม 2566 (Global Organized Crime Index) โดย GI-TOC จัดอันดับประเทศที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทุก 2 ปี โดยหากอยู่อันดับต้นๆ จะหมายความว่าประเทศดังกล่าวมีปัญหาอาชญากรรมรุนแรงมาก ในรายงานฉบับนี้ ประเทศที่ค่าดัชนีสูงที่สุดได้แก่ ประเทศเมียนมา และต่ำที่สุดได้แก่ ประเทศตูวาลู สำหรับประเทศไทยได้ 6.18 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 44 จาก 193 ประเทศทั่วโลก เป็นที่ 18 จาก 44 ประเทศในเอเชีย และรั้งอันดับที่ 7 จาก 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนหน้าในปี 2564 ที่เราอยู่อันดับที่ 56 โดยปัญหาหลักที่ทำให้ดัชนีอาชญากรรมของไทยรุนแรงมาจากการค้ามนุษย์ การค้าอาวุธ และการค้าสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การลักลอบค้าสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต
รายงานฉบับนี้ระบุว่าภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติต่างต้องหารายได้เพิ่มเติมจากช่องทางอื่นนอกเหนือจากสิ่งผิดกฎหมายหลักที่ทำอยู่อย่างการค้ายาเสพติด ด้วยการค้าสินค้าเถื่อน เช่น บุหรี่ สุรา และไพ่ เพราะต่างเป็นสิ่งที่ซื้อง่ายขายคล่อง นำเข้าง่าย ซุกซ่อนมาในตู้คอนเทนเนอร์ให้รอดพ้นการตรวจสอบของศุลกากร ลงเรือขนส่งสินค้าและแจ้งว่าเป็นสินค้าที่อยู่ระหว่างการขนส่งไปประเทศที่ 3 แต่ลักลอบขนย้ายเข้าเรือประมงขนาดเล็กกลางทะเล หรือผ่านช่องทางธรรมชาติตามแนวพรมแดน ส่งผลให้คะแนนด้านการค้าสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทยสูงถึง 8 คะแนน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียนที่ระดับ 6.32 คะแนน และการลักลอบค้าสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตก็มีคะแนนสูงถึง 7 คะแนน มากกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียนที่ระดับ 5.91 คะแนน
...
สินค้าเถื่อน เช่น บุหรี่เถื่อน มีการทะลักเข้าประเทศไทยเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะจากประเทศเวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย จนครอบครองตลาดกว่า 1 ใน 4 ของการบริโภคบุหรี่ทั้งหมดของไทย ทำให้รัฐสูญเสียรายได้กว่าปีละ 25,000 ล้านบาท ซึ่งมีการตั้งสมมติฐานว่า อาจมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ช่วยเหลือตั้งแต่กระบวนการส่งออกจากประเทศต้นทางจนถึงกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคไทย
การกระทำผิดเป็นขบวนการข้ามชาติเช่นนี้สะท้อนความจริงที่ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือภูมิภาคที่มีความรุนแรงของอาชญากรรมสูงที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย เพราะอาชญากรรมที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในประเทศเท่านั้น ฉุดให้คะแนนของหลายประเทศในภูมิภาคนี้แย่ลงไปพร้อมกัน
ปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างกรมสรรพสามิต รุกหนักในการจับกุมและปราบปราม โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการกระทำผิดจำนวน 3,202 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 77.02 ล้านบาท และประมาณการค่าปรับ 568,723,950.05 บาท พบสุรามีจำนวนคดีมากที่สุด 1,651 คดี ตามด้วยยาสูบ 1,199 คดี ซึ่งเพียง 6 เดือนของปีงบประมาณ 2567 สรรพสามิตพบการกระทำผิดเกี่ยวกับสุราแล้ว 8,153 คดี ยาสูบอีก 6,134 คดี แม้จะเร่งปราบปราม แต่ดูเหมือนว่าสินค้าผิดกฎหมายก็ไม่หมดไปสักที
ดัชนีอาชญากรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อชี้ให้รัฐบาลแต่ละประเทศเห็นถึงจุดอ่อนที่เปิดช่องให้เกิดอาชญากรรมในประเทศของตน และเร่งแก้ไขเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทั้งประชาชนในประเทศ และเสริมภาพลักษณ์ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ อาจเป็นตัวชี้วัดที่ดีให้รัฐบาลเร่งปิดช่องโหว่ของกฎหมายที่เอื้อต่อการทุจริต และมีแนวทางที่แน่ชัดจากรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการปราบปรามดำเนินคดี รวมถึงประสานงานขอความร่วมมือกับรัฐบาลอาเซียนชาติอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมของภูมิภาคไปด้วยกัน เพื่อให้ไทยไปถึงฝั่งฝันในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนทั้ง 8 สาขาและดึงดูดการค้าการลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพื่อยกระดับชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิม.