สถิติโกงออนไลน์พุ่งกระฉูด แค่ 10 เดือนที่ผ่านมา ยอดแจ้งความออนไลน์ถึง 391,631 คดี มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 10,122,822,746 บาท คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการแชมป์เกิดเหตุ 160,819 คดี มูลค่าความเสียหายรวม 2,306,485,393 บาท แนะวิธีป้องกัน “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” แล้วรีบ “แจ้งความ รีพอร์ต บอกเพื่อน”

ตำรวจสรุปยอดตัวเลขเหยื่อหลอกลวงออนไลน์ยอดพุ่งพรวด ผบ.ตร.กำชับทุกหน่วยเร่งจับกุม เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อ เปิดเผยขึ้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 30 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานตำรวจ แห่งชาติสรุปสถิติคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 ถึงวันที่ 20 ธ.ค.2566 จากระบบรับแจ้งความออนไลน์ ( www.thaipoliceonline.go.th ) พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 ถึงวันที่ 20 ธ.ค.2566 รับแจ้งความคดีเฉพาะทางออนไลน์จำนวนทั้งสิ้น 391,631 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 10,122,822,746 บาท

สถิติคดีออนไลน์ที่รับแจ้งจากทุกช่องทางมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ จำนวน 160,819 คดี มูลค่าความเสียหาย 2,306,485,393 บาท 2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน จำนวน 50,536 คดี มูลค่าความเสียหาย 6,344,692,277 บาท 3.หลอกให้กู้เงิน จำนวน 43,193 คดี มูลค่าความเสียหาย 1,926,948,604 บาท 4.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 32,501 คดี มูลค่าความเสียหาย 17,194,810,386 บาท และ 5.ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) จำนวน 27,620 คดี มูลค่าความเสียหาย 6,156,163,198 บาท

พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก ตร. กล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ผ่านมาพบว่ารูปแบบคดีที่มีจำนวนการแจ้งความมากที่สุดอันดับ 1 ยังคงเป็น “การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์” มีจำนวนกว่า 160,819 คดี ส่วนรูปแบบคดีที่มีความเสียหายรวมสูงที่สุด อันดับ 1 คือ หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ความเสียหายรวมกว่า 17,194,810,386 บาท สำหรับคดีในรูปแบบอื่นๆ อาทิ “การหลอกให้โอนเงิน” “การหลอกให้กู้เงิน” และ “การข่มขู่ทางโทรศัพท์” ยังคงรูปแบบคดีที่มีผู้เสียหายและสร้างความเสียหายในอันดับต้นๆเช่นเดียวกัน

...

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอเตือนพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวังการใช้สื่อออนไลน์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท เพราะคนร้ายจะพยายามใช้ทุกช่องทางในการเข้าถึงเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเอสเอ็มเอส การโทรศัพท์หาเหยื่อ การลงโฆษณาในสื่อสังคมออนไลน์ หรือเว็บไซต์ต่างๆ ในหลายกรณีพบว่าคนร้ายมีข้อมูลส่วนบุคคลเชิงลึกของเหยื่อใช้ประกอบการหลอกลวงเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือด้วย” พล.ต.ต.ศิริวัฒน์กล่าว

รองโฆษก ตร.กล่าวต่อว่า แนวโน้มรูปแบบอาชญากรรมออนไลน์ในปี 2567 สิ่งที่พี่น้องประชาชนต้องระมัดระวังคือ การที่คนร้ายนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Artificial Intelligence หรือ AI) มาใช้สร้างเนื้อหาปลอมขึ้นมาเพื่อใช้ในการฉ้อโกง หรือสร้างความเสียหาย การนำเอไอมาใช้สร้างภาพหรือคลิปปลอม เพื่อนำมาแสวงหาประโยชน์ต่างๆ เช่น การสร้างภาพหรือคลิปปลอมเป็นบุคคลอื่น (AI Deepfakes) เพื่อใช้ฉ้อโกง การเลียนเสียงของบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนรู้จัก (AI Voice Covers) จากตัวอย่างเสียงเพื่อใช้ฉ้อโกง การสร้างคลิปลามกปลอม (AI Deepfakes) ทำให้บุคคลอื่นเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือแสวงหาประโยชน์ การสร้างข่าวปลอม (Fake News) ที่ดูน่าเชื่อถือ ทำให้เกิดความตื่นตระหนก หรือเข้าใจผิด

“วิธีการป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อคือ การอย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น หรือได้ยินในโลกออนไลน์ ยึดหลัก “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์ หากพบว่าถูกแอบอ้างหรือปลอมบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ ให้รีบดำเนินการ “แจ้งความ รีพอร์ต บอกเพื่อน” เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับญาติพี่น้องหรือเพื่อนสนิทต่อไป

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่