คดีนี้ตามข่าวมีภาพทีวีวงจรปิด กล้องคงอยู่ทางซ้ายมือด้านบนของสาว 17 ร้านดังกล่าวคงเหมือนอีกหลายร้านที่เขียนว่า “ห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าใช้บริการ” ?!

มีชายหัวเกรียนสวมเสื้อกั๊ก ท่าทางทะมัดทะแมง ขอตรวจบัตรประชาชนผ่านจอมือถือ

บัตรจะปลอม หรือมือถือไม่ลงแอปบัตรให้ถูกต้อง จะตรวจจริงหรือตรวจเล่น ไปว่ากันอีกเรื่อง

แต่นักมวยมาเที่ยว ย่อมเชื่อโดยสนิทใจว่า สาวที่ปิ๊งคนนี้ เธอผ่านการตรวจคัดกรองจากการ์ดของร้านมาแล้ว จากนั้นเขาและเธอจะพากันไปทำอะไร ไม่มีใครรู้?

แต่พอมีการร้องทุกข์ ย่อมมีการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ เอาตัวคนผิดมาฟ้องร้องทำโทษ และต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาด้วย อันนี้จำภาษาตัวบทใน ป.วิ.อาญา มาแบบไม่ต้องเปิดประมวล

บังเอิญเปิดไลน์กลุ่มของสายนักกฎหมายไปเจอแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ที่รวบรวมมาโดย ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนาย

ผมว่ามันทันเหตุการณ์ จึงขอนำมาเล่าต่อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9285/2556

เมื่อจำเลยสำคัญผิดว่า ผู้เสียหายพ้นวัยผู้เยาว์ โดยเข้าใจว่า ผู้เสียหายมีอายุเกินกว่า 18 ปีแล้ว (ผู้เสียหายมีร่างอวบสูงใหญ่เกินใคร อีกทั้งที่ร้านมีป้ายติดว่า ห้ามรับบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าทำงาน)

จึงเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเรื่องอายุอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ.มาตรา 318 วรรคแรก การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนากระทำความผิดฐานดังกล่าวตาม ป.อ.มาตรา 59 วรรคสาม

สุดท้ายนี้ ขอบอกว่าเมื่อเขาและเธอ herstory อยู่ในห้องลำพัง 2 คน ไม่มีใครเห็น

ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงมีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏด้วยพยานหลักฐาน ในหลักการของกฎหมายลักษณะพยานใน ป.วิ.อาญาให้มีประสิทธิภาพ

...

เรื่องนี้จะจบแบบไหน อยู่ที่รายละอียดระหว่างการสืบพยานโจทก์และจำเลยในชั้นศาล

แต่เหนือกฎหมายคือ กฎแห่งกรรม?!

สหบาท

คลิกอ่านคอลัมน์ “ส่องตำรวจ” เพิ่มเติม