ศาลนัดตรวจหลักฐานคดีอัยการฟ้อง แอม ไซยาไนด์ พ.ต.ท.อดีตสามี และทนายพัช ร่วมฆ่าน้องก้อย ทำลายหลักฐาน ทนายเดชา ทนายฝั่งผู้เสียหายระบุ จะเรียกค่าสินไหมทดแทนกับจำเลยด้วย 31 ล้านบาท ด้านทนายพัช งัดหลักฐานเด็ดแฉตำรวจซื้อไซยาไนด์ไปวางตามจุดต่างๆ ก่อนเข้าตรวจ ท้านำแม่น้องก้อยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมให้ได้ก่อน
ที่ศาลอาญา วันที่ 2 ต.ค.66 ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นางสาวสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ แอม ไซยาไนด์ จำเลยที่ 1 พันตำรวจโทวิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ อดีตสามีของแอม จำเลยที่ 2 และนางสาวธันย์นิชา เอกสุวรรณรัตน์ ทนายความของนางแอม จำเลยที่ 3 ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันทำลายหลักฐาน เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 กรณีการเสียชีวิตของ น.ส.ก้อย ศิริพร ขันวงษ์ เหตุเกิดที่จังหวัดราชบุรี และเรียกค่าสินไหมทดแทน โดยนัดนี้ราชทัณฑ์ได้เบิกตัวนางแอม จากทัณฑสถานหญิงกลาง
นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความฝ่ายผู้เสียหายได้เดินทางมาศาลพร้อมกับแม่ของนางสาวก้อย, นายรพี ชำนาญเรือ ผู้ประสานงานเหยื่อคดีแอม ไซยาไนด์ โดยกล่าวว่า วันนี้ไม่มีความกังวลในการนัดตรวจพยานหลักฐาน เพราะได้ศึกษาสำนวนและคำฟ้องของพนักงานอัยการมาโดยละเอียด โดยในวันนี้จะยื่นคำร้องขอเรียกค่าเสียหายตาม ป.วิอาญา เป็นเงิน 31,000,000 บาท ให้กับแม่ของนางสาวก้อย เช่น ค่าปลงศพ และจะตั้งทนายเพื่อยื่นคำร้องเรียกค่าไร้อุปการะให้กับลูกวัย 10 ขวบของผู้ตายอีกคดีหนึ่งด้วย
สำหรับคดีนี้ แอม จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ฆ่าชิงทรัพย์โดยการวางยาหรือใช้สารพิษเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งบรรยายฟ้องของพนักงานอัยการได้ระบุพฤติการณ์ความผิดของจำเลยทั้งสามคนไว้ชัดเจน โดยจำเลยที่ 2 คือ พันตำรวจโทวิฑูรย์ เป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินในคดี จะไปขอคำปรึกษาจากจำเลยที่สามคือ ทนายพัช จึงได้พูดยุยงให้มีการทำลายพยานหลักฐาน เพื่อให้นางแอมหลุดจากคดี โดยกล่าวว่า “ถ้าจะสู้ให้สุดก็ต้องไม่ปรากฏของกลาง และมีคดีที่ศาลยกฟ้องเพราะไม่มีของกลาง ส่วนคดีนี้ก็ควรทำให้ไม่มีของกลาง”
...
ทนายเดชา กล่าวว่า ตนไม่มีความกังวล เนื่องจากพยานหลักฐานมีความชัดเจนทั้งนิติวิทยาศาสตร์ ผลการชันสูตรพลิกศพ และวัตถุพยาน ถือว่ามีความแน่นหนา แต่เป็นห่วงแทนฝั่งจำเลยมากกว่าที่พยานหลักฐานแน่นหนาขนาดนี้ แต่จะยังคงยืนกรานต่อสู้คดี อย่างไรก็ตาม หากการเปิดพยานหลักฐานวันนี้มีความชัดเจน จำเลยอาจให้การรับสารภาพได้ และศาลอาจลดโทษจากประหารชีวิตคงเหลือจำคุกตลอดชีวิต แต่หากจำเลยยังไม่ให้การรับสารภาพ และต่อสู้ในชั้นศาลอาจจะใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 ปี เนื่องจากมีพยานหลักฐานในคดีจำนวนมาก
ด้าน นายรพี ชำนาญเรือ ผู้ประสานงานเหยื่อคดีแอมไซยาไนด์ กล่าวว่า ยืนยันว่าจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เพราะผู้เสียหายได้รับความเสียหายมามากแล้ว แต่ฝากไปถึงทนายของคู่กรณีอยากให้ระมัดระวังการใช้ถ้อยคำที่เสียดแทงใจญาติของผู้เสียหายและอยากให้สงบปากสงบคำมากกว่านี้ และคำนึงถึงมารยาทของทนายความด้วยส่วนผลทางคดีนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาให้ความเป็นธรรมของศาล แต่เบื้องต้นผู้กระทำผิดก็ได้รับผลกรรมแล้ว
ขณะที่ นางทองพิณ อายุ 63 ปี แม่นางสาวก้อย เหยื่อในคดีนี้ บอกว่าไม่มีความหนักใจในคดีนี้ ขอให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่อยากให้ทางจำเลยพูดความจริง ทุกอย่างจะได้จบลง ซึ่งช่วงเช้าวันนี้ก็ได้จุดธูปเชิญนางสาวก้อยขึ้นรถมาด้วย
ต่อมา เวลา 10.00 น. นางสาวธันย์นิชา เอกสุวรรณรัตน์ หรือ ทนายพัช ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ก่อนที่จะขึ้นไปตรวจพยานหลักฐาน ว่า วันนี้ตนมาในฐานะจำเลยและทนายความร่วม ซึ่งก็มีความมั่นใจในพยานหลักฐานไม่แพ้ฝั่งโจทก์ โดยหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะนำมาต่อสู้คือ ใบบันทึกประจำวัน เรื่องที่ตำรวจ กก.5 บก.ป. ได้สั่งซื้อไซยาไนด์ผ่านช่องทางออนไลน์ไปไว้ตามตำแหน่งต่างๆ ก่อนจะมีการเข้าตรวจค้น เพื่อให้มีหลักฐานทางคดี
ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าศาลจะต้องยกประโยชน์ให้กับจำเลย เพราะฝั่งโจทก์มีพยานแวดล้อม และประจักษ์พยานมีไม่เพียงพอที่จะเอาผิดได้ นอกจากนี้ ทราบว่าหนึ่งในผู้เสียหายที่อยู่จังหวัดนครปฐมได้มีการถอนฟ้องไปแล้ว ซึ่งตนก็ขอความแสดงยินดีด้วย
ในส่วนประเด็นที่ฝั่งโจทก์ มีความมั่นใจในเรื่องของพยานหลักฐานนั้น ตนมองว่าอยากให้แม่ของก้อยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมให้ได้ก่อน อยากให้ไปตรวจดูว่ามีการสวมทะเบียนบัตรประชาชน และเป็นคนต่างด้าวหรือเปล่า ต้องไปตรวจดูด้วย หากเข้ามาในคดีไม่ได้ก็จะไม่สามารถทำอะไรตนได้ รวมไปทั้งเรื่องที่จะเรียกค่าเสียหายด้วย
โดยวันนี้พนักงานอัยการโจทก์ น.ส.ทองพิณ เกียรติชนะสิริ มารดาผู้ตาย ซึ่งเป็นผู้ร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1-3 พร้อมทนายความมาศาล ซึ่งน.ส.ทองพิณ ผู้ร้องได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ตามคำร้องตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.2566 สอบโจทก์แล้วไม่คัดค้าน ส่วนทนายความจำเลยที่ 2 และ 3 คัดค้านการขอเป็นโจทก์ร่วมของ น.ส.ทองพิณ โดยแถลงเพิ่มเติมว่า ผู้ร้องไม่ใช่มารดาของผู้ตายในคดีนี้ พร้อมยื่นเอกสารประกอบ แต่ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ได้ตรวจพยานหลักฐานที่คู่ความเสนอ โดยเฉพาะทนายความของผู้ร้องแถลงว่า น.ส.ทองพิณ มารดาผู้ตายได้เปลี่ยนชื่อ นามสกุล มาหลายครั้ง แต่ยืนยันว่าเป็นมารดาของผู้ตายจริง ทั้งนี้ ศาลได้ดูเอกสารที่จำเลยที่ 3 และทนายความจำเลยทที่ 3 อ้างส่งประกอบเอกสารที่ผู้ร้องส่งโดยเฉพาะบัตรประจำตัวประชาชน มีหมายเลขประจำตัวประชาชนถูกต้องตรงกัน น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลเดียวกัน อีกทั้งโจทก์ไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้น.ส.ทองพิณ เข้าเป็นโจทก์ร่วมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ส่วนความผิดฐานอื่นเป็นความผิดต่อรัฐ ไม่อนุญาต
ทนายความจำเลยทั้งสามแถลงว่า เนื่องจากเอกสารที่ต้องตำรวจเป็นจำนวนมากและเพิ่งเห็นในวันนี้ จึงขออนุญาตเลื่อนการพิจารณาไปนัดหน้า ศาลสอบโจทก์และทนายความโจทก์ร่วมแล้วไม่คัดค้าน ส่วนประเด็นที่ นางทองพิณ ทนายความโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/2นั้นให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การในส่วนแพ่งต่อศาลภายใน 15 วัน
...
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เปิดโอกาสให้คู่ความทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลได้อย่างเต็มที่ อนุญาตให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อประชุมคดี ตรวจพยานหลักฐาน สอบคำให้การจำเลยทั้งสาม กำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 20 พ.ย.2566 เวลา 09.00 น.