ตำรวจไซเบอร์ เปิดยุทธการ ยุบวงจรหลอกลงทุนกลุ่มอมตะ Phase 2 ตามรวบ 10 ผู้ต้องหา สร้างความเสียหายกว่า 66 ล้านบาท โดยทำทีแฝงตัวเข้ามาในกลุ่มเทรดหุ้นของกลุ่มอมตะพูดคุยเรื่องการลงทุน สร้างความน่าเชื่อถือ ก่อนเชิญชวนให้เปิดพอร์ต จากนั้นจึงหลอกลวงเงิน
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 5 ก.ย. 66 ที่ บช.สอท. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.ไพโรจน์ สุขรวยธนโชติ พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.สอท.2 พ.ต.อ.สุวัฒชัย ศรีทองสุข ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.2 นายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจอมตะ ร่วมกันแถลงผลการจับกุมผู้ต้องหาตามยุทธการ "ปฏิบัติการยุบวงจร หลอกลงทุนกลุ่มอมตะ เฟส 2" จับกุมผู้ต้องหา 10 ราย ความเสียหายกว่า 66 ล้านบาท
พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวว่า จากปฏิบัติการทลายขบวนการหลอกลงทุนกลุ่มอมตะ โดยจับกุมผู้ต้องหาได้ 9 ราย จาก 11 ราย อีกทั้งได้ประสานทางเฟซบุ๊กปิดกั้นเพจปลอมทั้งหมดไปแล้ว เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา ต่อมาพบว่ามีมิจฉาชีพสร้างเพจปลอมเพิ่มขึ้นอีกกว่า 73 เพจปลอม มีผู้ที่หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อเข้าไปร่วมลงทุนอีกจำนวนมาก โดยมีผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความเพิ่มมากจากเดิมจำนวน 203 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 66 ล้านบาท จึงได้ทำการสืบสวนออกหมายจับ 19 หมาย จับกุมผู้ต้องหาเพิ่มเติมได้กว่า 10 ราย ซึ่งมีความเชื่อมโยงในการกระทำความผิดในรูปแบบเดียวกันหลายคดี ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือ เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเร่งติดตามตัวและเร่งขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้กระทำความผิดแล้ว
...
ในส่วนวิธีการมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาในกลุ่มเทรดหุ้นของกลุ่มอมตะ โดยมิจฉาชีพจะแอดไลน์ อ้างตัวเป็นโบรกเกอร์ โดยใช้ชื่อไลน์แตกต่างกันไป อาทิเช่น amata4978, amataservice7891, service worker, Amata2788, Inmot_88 เป็นต้น เข้ามาพูดคุยเรื่องการลงทุนระยะสั้น จากนั้นได้แจ้งผลกำไร แล้วแจ้งให้ผู้เสียหาย โอนเงินเพื่อจ่ายภาษีจากผลกำไร โดยให้ผู้เสียหายโอนเงินผ่านบัญชีม้า ซึ่งมิจจาชีพจะใช้รูปโฆษณาในเพจเฟซบุ๊กเพื่อชักชวนให้ลงทุนกับกองทุนอมตะ โดยมีภาพคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ทำให้ดูน่าเชื่อถือและหลงเชื่อว่ามีผลตอบแทนที่ดี จึงติดต่อไปยังแอดมินเฟซบุ๊ก มิจฉาชีพ และมีการแอดไลน์พูดคุย เชิญชวนให้เปิดพอร์ตแบบระยะสั้น ให้ทำการโอนเงินครั้งแรกจำนวนน้อยๆ ก่อน และให้ทำการเทรดจำนวนหลายครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งจะให้โอนเงินเติมเข้าพอร์ตการลงทุนจากหลักพันบาทในครั้งแรก และค่อยๆ ให้โอนเพิ่มเติมถึงหลักแสนบาท โดยจะแสดงผลกำไรและแจ้งกลับมาให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ เมื่อผู้เสียหายขอปิดบัญชี เพื่อเบิกเงินออกมา มิจฉาชีพจะแจ้งว่าต้องเสียค่าภาษี ค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นเงินหลักแสนอีก เมื่อผู้เสียหายไม่โอนเงิน ทางมิจฉาชีพมีการต่อว่า และตัดการติดต่อไป ซึ่งมิจฉาชีพมีการหลอกลวงผู้เสียหายจำนวนหลายราย ได้ทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามขอให้ตรวจสอบให้ชัดเจน เนื่องจากพบว่าคนร้ายมีการปั๊มยอดและผู้ถูกใจให้สูงใกล้เคียงเพจจริง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งปัจจุบันเฟซบุ๊กมีการอัปซอฟต์แวร์โดยมีเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าด้านหลังชื่อบัญชี เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ติดตามบัญชี ว่าเจ้าของบัญชีมีตัวตน ไม่ใช่มิจฉาชีพ ในส่วนของผู้ที่ร่วมขบวนการในการกระทำผิดทางตำรวจไซเบอร์อยู่ระหว่างการขยายผลติดตามจับกุมผู้กระทำผิดในส่วนที่เหลือ ผบช.สอท.กล่าว
พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวอีกว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เน้นย้ำบช.สอท. กวาดล้างหลังพบว่า การหลอกลงทุน เป็นความเสียหายอันดับหนึ่งที่ทางประชาชนแจ้งความ โดยทางพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบ.ตร. ได้ประสานขอความร่วมกับทางกสทช.ในการเปิดปฏิบัติการตัดวงจรคอลเซ็นเตอร์ซิมสายเสา และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ พ.ต.อ.สุวัฒชัย ระบุ นอกจากบริษัทเครืออมตะที่ถูกอ้างชื่อแล้วยังพบว่ามิจฉาชีพยังหลอกเหยื่อในลักษณะเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนบริษัท อาทิ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ Gulf, ไทยกรุ๊ป และบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ระหว่างสืบสวนจับกุมขบวนการ อีกทั้งจากแนวทางสืบสวนพบว่าขบวนการนี้เมื่อหลอกเงินเหยื่อได้จะนำเงินที่ได้ไปแปลงเข้าสู่คริปโต
...
ด้าน นายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจอมตะ เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทอมตะ มีนโยบายการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพียงเท่านั้น คนที่ขายก็ต้องเป็นโบรกเกอร์ ที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายและได้รับการรับรองโดยตลาดหลักทรัพย์ และผลตอบแทนไม่ได้สูงเท่ากับที่กลุ่มมิจฉาชีพโฆษณา ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นทางบริษัทก็เสียหายด้วยเช่นกันและไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมฝากถึงนักลงทุนว่าหากจะลงทุนผ่านบริษัทใด ให้ติดต่อไปยังบริษัทนั้นโดยตรงเพื่อสอบถามก่อน และตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจน.