ตำรวจไซเบอร์ เปิด 10 อันดับ สินทรัพย์ที่มิจฉาชีพมักนำมาแอบอ้างหลอกลวงให้ลงทุน เพื่อให้เหยื่อเห็นผลตอบแทนสูง ให้เกิดความโลภเพิ่มทุน และชวนบุคคลอื่นร่วมลงทุน มักแอบอ้างภาพ หรือชื่อ ก.ล.ต. หรือหน่วยงาน บริษัท บุคคลที่มีชื่อเสียงในการโฆษณาชวนเชื่อ 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 มิ.ย.66 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. เปิดเผยว่า ในปัจจุบันกระแสความนิยมในการลงทุนสินทรัพย์ต่างๆ ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพฉวยโอกาสเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์หลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนโดยมิชอบ ทำให้ที่ผ่านมามีประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยนับตั้งแต่การเปิดศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 65 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์กว่า 23,200 ราย สูงเป็นลำดับที่ 4 หรือคิดเป็น 8.3% ของจำนวนเรื่องที่ได้รับแจ้งความทั้งหมด แต่กลับพบว่ามีมูลค่าความเสียหายกว่า 11,200 ล้านบาท สูงที่สุดเป็นลำดับที่ 1 หรือคิดเป็น 28.72% จากมูลค่าความเสียหายรวมของการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ 

โดยมิจฉาชีพมักจะใช้วิธีการสร้างเว็บไซต์ปลอม หรือแอปพลิเคชันปลอม หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ปลอม นำเสนอข้อมูล ตัดต่อ คัดลอก ภาพบุคคลที่มีชื่อเสียง องค์กรหรือบริษัทที่น่าเชื่อถือ ประกาศโฆษณาชักชวนบุคคลทั่วไปให้มาลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ มีการการันตีจะได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว ใช้คำโฆษณาที่สวยหรู เช่น เป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุน เพื่ออนาคตที่ดีกว่า กล้าคิด กล้าลงทุน เพียงแค่เปิดใจ เป็นต้น รวมถึงใช้เทคนิคการซื้อโฆษณาเพื่อง่ายต่อการเข้าถึงเป้าหมาย และในระหว่างนั้นเหยื่อจะได้พูดคุยกับบุคคลที่อ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน พูดคุย โน้มน้าว ใช้จิตวิทยาล่อลวงให้เหยื่อลงทุนด้วยจำนวนเงินที่เพิ่มสูงขึ้น ท้ายที่สุดอ้างว่าเหยื่อทำผิดกฎต่างๆ ทำให้ไม่สามารถถอนเงินจากระบบได้ 

...

นอกจากนี้แล้ว การลงทุนนั้นอาจจะเข้าข่ายเป็นการแชร์ลูกโซ่ โดยมิจฉาชีพจะใช้วิธีการสร้างภาพว่าตน หรือธุรกิจของตนประสบความสำเร็จ ซึ่งในช่วงแรกเหยื่อก็จะได้รับผลตอบแทนจริงตามที่กล่าวอ้าง จากนั้นเหยื่อจะเกิดความโลภ ลงทุนเพิ่มเป็นจำนวนมาก และยังไปชวนบุคคลอื่นมาร่วมลงทุนด้วย ซึ่งมิจฉาชีพก็นำเงินมาหมุนจ่ายค่าตอบแทนแก่สมาชิกอื่นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีจำนวนสมาชิกและเงินลงทุนเป็นจำนวนมากแล้ว ก็จะหลบหนีไป รวมไปถึงการเข้าหาเหยื่อด้วยแอปพลิเคชันหาคู่ และใช้คำหวานโรแมนติกหลอกลวงเหยื่อ ทั้งนี้ ที่ผ่านมามักจะพบสินทรัพย์ที่มิจฉาชีพนำมาหลอกลวงลงทุน ดังนี้

1. สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ฝากซื้อขายเหรียญในเว็บไซต์ปลอม หลอกให้ลงทุนซื้อเหรียญสกุลใหม่ๆ แต่สุดท้ายไม่ได้เข้าตลาดซื้อขาย ธุรกิจการขุดเหมืองสกุลเงินดิจิทัล หรือการเช่าหรือซื้อกำลังขุดสกุลเงินดิจิทัล (Cloud Mining)

2. อัตราแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศ (Forex) หลอกลงทุนเก็งกำไร

3. ทองคำ เพชร

4. หุ้นต่างประเทศ

5. หุ้นกองทุนรวมในประเทศ เช่น Amata, Gulf, PTT, CPALL, บางจาก, AOT เป็นต้น 

6. อสังหาริมทรัพย์ 

7. สินค้าอุปโภค เช่น คดีลงทุนฟาร์มเห็ด Turtle Farm, คดีลงทุนผักผลไม้ตลาดสี่มุมเมือง 

8. ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เช่น คดี พรีมายา (Primaya) 

9. โควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล 

10. ลงทุนเล่นการพนันออนไลน์

ขณะเดียวกัน พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนให้ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ

โฆษก บช.สอท. กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาก็พบการกระทำความผิดในลักษณะของการหลอกลวงให้ลงทุน ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง วิธีการที่มิจฉาชีพนำมาใช้ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมมากนัก เพียงแต่เปลี่ยนเรื่องราวไปตามกระแสความสนใจของสังคมในปัจจุบัน โดยอาศัยความไม่รู้ และความโลภของประชาชนเป็นเครื่องมือ มักแอบอ้างภาพ หรือชื่อ ก.ล.ต. หรือหน่วยงาน บริษัท บุคคลที่มีชื่อเสียงในการโฆษณาชวนเชื่อ หรือการปลอมแปลงใบอนุญาต อ้างหรือตั้งชื่อให้ใกล้เคียงกับบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และในปัจจุบันมิจฉาชีพสามารถเข้าถึงเหยื่อได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ทำให้การหลอกลวงสามารถทำได้หลายรูปแบบ และหลายช่องทางมากขึ้น รวมไปถึงมิจฉาชีพก็มักจะสร้างความน่าเชื่อถือปิดช่องโหว่มากขึ้น เนื่องจากประชาชนเริ่มรู้เท่าทันจากการเตือนภัยออนไลน์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ.